วันจันทร์ที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2561

ในฐานะเจ้าของเงิน คุณไม่รู้สึกอะไรบ้างเลยเหรอ ?


งบการศึกษาของเมืองไทยนั้นสูงมาก  หากตั้งใจจะปฎิรูปอย่างจริงจังก็คงสามารถพัฒนาทำได้เต็มที่  
แต่งบที่มากมายนั้นเอาไปใช้ทำอะไรเสียหมด เราถึงได้ระบบการศึกษาด้อยคุณภาพมาตรฐานดิ่งลงเหว

เป็นประโยคที่ผมได้กล่าวไว้ในคุมคลุมเครือ   ปมประเด็นข้อสงสัยที่ว่าทำไมกระทรวงศึกษาธิการ
หน่วยงานที่ได้รับงบประมาณสูงสุดและมีการเพิ่มงบทุกๆปี  แต่ผลงานกลับล้มเหลวโดยสิ้นเชิง
ผมคิดว่าวันนี้สังคมน่าจะพอได้รับคำตอบในคำถามนี้บ้างแล้ว จากกรณีคดีโกงเงินกองทุนเสมาพัฒนาชีวิต

ผมจะไม่อธิบายหรือย่อยข่าวนี้ให้ อยากรู้ไปไล่อ่านและไตร่ตรองกันเอาเอง คำตอบอยู่ตรงหน้าคุณแล้ว เหลือแต่ว่าเลือกที่จะรับรู้หรือไม่
ถ้าคุณจะปิดหูจะปิดตาคิดอย่างปลงตก ก็เพราะมันเป็นเสียอย่างนี้ เมืองไทยโกงกินกันเป็นเรื่องธรรมดา
หาเงินหาทองส่งลูกหลานไปเรียนเมืองนอกดีกว่า คิดแบบนั้นมันก็เป็นสิทธิ์ของคุณไม่มีใครห้ามปราม
แต่อย่าลืม ไม่ว่าคุณจะให้ลูกหลานเรียนเมืองไทยหรือเมืองนอก  คุณยังต้องจ่ายภาษีให้ประเทศนี้อยู่ดี นี่คือเงินของคุณ

ผมเชื่ออย่างมั่นใจว่านี่ไม่ใช่แค่คดีทุจริตยักยอกทรัพย์โกงเงินมหาศาลเพียงคดีเดียวในกระทรวงศึกษาธิการเป็นแน่แท้
ยังมีรอยตำหนิอีกมากมายที่เรายังไม่รู้  ทั้งที่เป็นสิทธิ์ของประชาชนต้องพึงรับทราบ เพราะนี่คือเงินของพวกเราทั้งหมด

ประชาชนให้เงินรัฐในรูปแบบภาษี เพื่อหวังให้รัฐนำเงินไปพัฒนามอบการศึกษาที่ดีมีคุณภาพแก่บุตรหลาน
แต่ประชาชนกลับตรวจสอบไม่ได้  รัฐสงวนให้ใช้กลไกภายในตรวจสอบกันเอง แล้วระบบก็ทำงานอย่างเชื่องช้าอืดอาดจนล่วงเวลาเป็นสิบปี
มันนานมากพอที่จะยืนยันว่าระบบมีปัญหาแน่นอน หากมีใครยืนกรานจะให้ใช้ระบบนี้ต่อไป ก็คงเสียสติอาการหนักเป็นแน่แท้

ปัญหาของกระทรวงศึกษาธิการ เท่าที่ผมพอจะคิดออกตามปัญญาอันน้อยนิด พอจะสรุปสาเหตุหลักได้สามข้อได้ดังนี้

1. มีขนาดใหญ่มากไป
2. รวมศูนย์มากไป
3. ราชการมากไป

สามข้อนี้ดูจะเป็นสาเหตุของปัญหาของหน่วยงานราชการอื่นๆด้วย ไม่ต่างจากกระทรวงศึกษาธิการ

องค์กรที่มีขนาดใหญ่และบริหารงานแบบรวมศูนย์ มันดีในแง่การปกครองแต่ไม่ดีในแง่ผลิตผลงาน
อีกทั้งความอุ้ยอ้ายขององค์กรทำให้มีกระบวนการทำงานล่าช้าขั้นตอนจุกจิก  ต้องรอให้นายคนนั้นคนนี้อนุมัติเสียเวลาโดยใช่เหตุ
ระบบจัดซื้อจัดจ้างก็มีช่องโหว่เปิดทางให้ทุจริตกันเป็นขบวนการ ผลาญงบประมาณของชาติอย่างน่าใจหาย
จนเป็นปัญหาที่ว่าทำไมราชการจ่ายแพงกว่าท้องตลาดแต่ไม่ได้ของดีที่สุดมาใช้งาน

"เช้าชามเย็นชาม"  นิยามข้าราชการที่เราได้ยินจนชินหู  ทั้งที่เราไม่ควรชินกับประโยคนี้ ควรรังเกียจเสียด้วยซ้ำ
การทำงานราชการในแบบไทยๆนั้นไม่มีแรงจูงใจให้ผู้คนในระบบอยากทุ่มเทแรงกายแรงใจเพื่อประโยชน์สูงสุดแก่ประเทศ
แต่เอื้อให้ทำตัวอยู่ไปวันๆเอาตัวรอดให้พ้นไม่ต้องดิ้นร้นให้เหนื่อยนัก  ถึงไม่โดดเด่นไม่มีผลงานยังไงก็ไม่โดนไล่ออก ถ้าไม่ทำผิดร้ายแรง
แต่กว่าจะถึงระดับความผิดร้ายแรงนั้นก็ผ่านกระบวนการตัวช่วยมากมาย  โยกย้ายไปนั่นไปนี้เลี่ยงความผิดไปเรื่อยๆ
มีบำนาญให้กินตอนแก่ ถึงจะเงินเดือนน้อยแต่ก็มีสวัสดิการ มีหลักประกันชีวิตที่ดีกว่าประชาชนคนทั่วไปเสียอีก
(ประเด็นเงินเดือนน้อย น้อยจริงแค่บางส่วนตำแหน่งเล็กๆเท่านั้น ..ขอละไว้ไม่กล่าวถึง)

มันเป็นความจริงนับจากอดีตถึงปัจจุบันไม่เคยเปลี่ยนแปลง  สิ่งที่เปลี่ยนแปลงในระบบราชการมีแค่สภาพแวดล้อมเท่านั้น
จากพิมพ์ดีดมาเป็นคอมพิวเตอร์ กระดาษเอกสารมาเป็นสื่ออิเล็กทรอนิกส์ แต่จิตใจของคนทำงานราชการนั้นยังเหมือนเดิม
คนหนุ่มสาวรุ่นใหม่ไฟแรงเข้าไปทำงาน กี่รุ่นๆสุดท้ายก็โดนระบบกลืนกินกลายเป็นพวกอยู่ไปวันๆ น้อยคนนักที่จะรักษาตัวตนไว้ได้

ถ้าเป็นเอกชน หากมีบริษัทไหนทำงานแบบราชการไทยๆ  แบ๊คไม่ดีทุนไม่หนาก็รอวันเจ๊งได้เลย
เอกชนถ้าอยู่ไปวันๆไม่ขวนขวายไม่พัฒนาไม่สร้างสรรค์ผลิตผลงานแล้วจะเอารายได้มาจากไหน
ต่างจากราชการที่กินภาษีจากประชาชน  ทำงานแย่แค่ไหนแต่ประชาชนก็ต้องเสียภาษีอยู่ดี
แถมตรวจสอบไม่ได้ ว่าเงินภาษีที่ประชาชนเสียไปนั้นเอาไปลงหน่วยงานไหน ทำอะไรบ้าง คุ้มค่าแก่การลงทุนไหม
เงินได้ใช้ไปอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยจริงหรือเปล่า เกิดมีการตกหล่นแอบไปลงกระเป๋าใคร ประชาชนก็ไม่รู้อยู่ดีถ้าเรื่องไม่แดง

ระบบราชการควรเป็นอะไรที่โปร่งใส่ ถ้าประชาชนตั้งข้อสงสัยเมื่อไร ราชการต้องพร้อมเผยข้อมูลตลอดเวลา
ถ้าเราไม่ปฎิรูประบบราชการกันอย่างจริงจัง เหตุการณ์แบบกองทุนเสมาพัฒนามันก็จะเกิดซ้ำรอยจนเป็นวงจรอุบาทว์ไม่รู้จักจบ
ยักยอกไป 88 ล้าน แจกทุนให้เด็กจริงแค่ 77 ล้าน  และทำอย่างนี้มาเป็นสิบปี

ในฐานะเจ้าของเงิน คุณไม่รู้สึกอะไรบ้างเลยเหรอ ?