วันอาทิตย์ที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2560

อย่าเชื่อใจความทรงจำ

สืบเนื่องมาจากเมื่อคืนผมดูหนังสยองขวัญเรื่องหนึ่ง  หนังเก่ามากอยากดูมานานแล้วแต่ไม่มีโอกาสได้ดู  นึกถึงขึ้นมาได้ก็เลยจัดซะ

เป็นหนังที่สร้างจากผลงานเขียนของ Stephen King เจ้าพ่อนิยายสยองขวัญ พล็อตเรื่องไม่หวือหวาแต่ดำเนินเรื่องได้น่าติดตาม
ว่าด้วยทนายอ้วนผู้รักการกินเป็นชีวิตจิตใจขับรถไปชนหญิงยิปซีเสียชีวิตคาที่  เนื่องจากพี่แกเป็นคนมีเส้นสายรู้จักผู้มีอิทธิพล
กอปรกับเจ้าหน้าที่รัฐรังเกียจพวกยิปซีเร่ร่อนเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ทำให้พี่ทนายอ้วนหลุดคดีไปอย่างสบายๆ
เมื่อทำอะไรทางกฏหมายไม่ได้  ลุงยิปซีพ่อของหญิงที่ตายไป จึงทำพิธีสาปแช่งทนายอ้วนให้ผอมลงทุกวันจนกว่าจะแห้งตาย


แรกๆมันก็ดี ลูกเมียของพี่อ้วนปลื้ม ในที่สุดพ่อก็ลดน้ำหนักได้สำเร็จ ผ่านไปสักพักชักเริ่มแปลกๆทำไมลดไม่หยุดจนต้องไปหาหมอ
หมอบอกว่าไม่ได้เจ็บไข้ได้ป่วยหรือมีพยาธิใดๆ  ร่างกายทำงานปกติ เรียกว่าสูตรลดความอ้วนของลุงยิปซีนี่เด็ดจริงๆ
ชนิดยาลดความอ้วนหรือคอร์สลดน้ำหนักเจ้าไหนก็ทำไม่ได้ ดูๆแล้วลุงยิปซีแกควรเลิกเร่ร่อนเปลี่ยนมาทำธุรกิจเสริมความงามดีกว่า
ความสยองขวัญของหนังเรื่องนี้เริ่มเมื่อพี่อ้วนแกผอมเกินพอดี  จากนั้นทุกท่านน่าจะพอเดาทางออก


อ่านมาถึงบรรทัดนี้ อาจจะมีบางท่านเริ่มมีความสงสัย แล้วมันเกี่ยวไรกับหัวข้อ "อย่าเชื่อใจความทรงจำ"
จากตรงบรรทัดแรก ผมบอกว่า"หนังเก่ามาก"  ซึ่งระดับความเก่าที่ฝังอยู่ในหัวนั้น จำไว้ว่าอยากดูเรื่องนี้มาตั้งแต่เด็กสมัยประถม
ผมรับรู้การมีหนังเรื่องนี้จากการอ่านนิตยสารวิทยาศาสตร์ที่พี่ชายซื้อประจำ ซึ่งจะมีคอลัมน์หนึ่งที่เอาไว้สำหรับเขียนแนะนำหนัง

แล้วผมก็พบความจริงว่าความทรงจำเหล่านั้นมันผิด ด้วยหลักฐานที่เจอในตอนค้นหาหนัง นั่นคือปีที่หนังเข้าฉายครั้งแรกคือปี 1996
และฉายที่สหรัฐอเมริกาด้วย  ถึงแม้ในยุคนั้นหนังเข้าโรงที่อเมริกาพร้อมกับไทยเป็นเรื่องปกติ แต่ส่วนใหญ่มักจะเป็นหนังฟอร์มใหญ่
Thinner  ถ้าวิจารณ์กันตรงๆ ถือว่าเป็นหนังเกรด B มันอาจจะเข้าโรงหนังในเมืองไทยหลังจากฉายในอเมริกาไปหลายเดือน
หรืออาจจะไม่ได้เข้าโรงเลย มาลงเป็นวิดีโอเทปแทนก็เป็นไปได้   ประเด็นมันอยู่ที่ว่าผมรู้จักการมีตัวตนของหนังเรื่องนี้ได้อย่างไร !?

พึงระลึกไว้อย่างนะครับ ช่วงก่อนปี 2000  ข้อมูลข่าวสารมันไม่ได้ไวเหมือนยุคนี้    Internet มีแล้วแต่ไม่ได้แพร่หลายกว้างไกล
ส่วนใหญ่ยุคนั้นเราเสพสื่อบันเทิงได้จากทีวีกับสิ่งพิมพ์  ข่าวประเภทว่ากำลังสร้างหนังเรื่องนั้นเรื่องนี้ อัพเดทความคืบหน้า
มันมีเฉพาะหนังฟอร์มยักษ์หรือหนังภาคต่อที่คนให้ความสนใจเป็นพิเศษ    พวกหนังเล็กๆก็อาจจะมีข่าวแต่น้อยมาก

ดังนั้นโอกาสที่ผมจะรู้จักหนัง Thinner อย่างไวสุดก็ปี 1995  - 1997   อาจจะได้ข้อมูลจากการอ่านนิตยสารจริง
แต่พอมานั่งนึกดู นิตยสารวิทยาศาสตร์เนี่ยนะแนะนำหนังสยองขวัญ ไม่ได้มี Special Effect น่าสนใจ แถม Production ธรรมดา
แสดงว่าความทรงจำส่วนนี้เชื่อถือไม่ได้เช่นกัน ผมน่าจะรู้จากการเห็นโฆษณาหนังในหนังสือพิมพ์หรือนิตยสารบันเทิงมากกว่า
 ดีไม่ดีอาจจะรู้จักตอนปี 1999 ขึ้นไป  เมื่อบิ๊กซีนีม่าช่อง 7 เอามาฉายลงทีวี แล้วเผอิญผมไปเห็นโฆษณาเลยฝังใจจำ
และข้อสำคัญสุด  ตั้งแต่ปี 1996 ขึ้นไป ผมเป็นวัยรุ่นแล้วนะครับ ไม่ใช่เด็กประถมแน่นอน


เฮ้ยยยยยย!!!!  ร้องเฮ้ยให้กับตัวเองดังๆ   งั้นแสดงว่าความทรงจำปลอม(False Memory)มันเกิดตอนเราอายุวัยรุ่นนะสิ
ทำไมถึงได้มั่วสุดกรู่ขนาดนั้น มั่วปีไม่พอ มั่วอายุตัวเองด้วย  เป็นไปได้ว่าผมเอาความทรงจำวัยเด็กมาผสมกับความทรงจำวัยรุ่น
ตอนเด็กผมอาจจะเคยอ่านนิยายเรื่อง Thinner ของ Stephen King  มาก่อน ซึ่งนิยายเรื่องนี้ออกวางจำหน่ายตอนปี 1984
ถ้าจะมีการแปลเป็นภาษาไทยหรือมีใครเอาเนื้อหาบางส่วนมาเขียนตีพิมพ์ในไทย ผมคงมีโอกาสได้อ่านน่าจะหลังจากนั้นสัก 4-5 ปี
นั่นเป็นช่วงเวลาที่ผมเป็นเด็กประถมพอดี  อ่านแล้วก็ลืมว่าเคยอ่าน แต่ความทรงจำได้ทำการบันทึกข้อมูลเก็บซ่อนไว้เรียบร้อย

Richard BachMan เป็นชื่อนามปากกาของ Stephen King

ข้อมูลดังกล่าวอาจมีการรับรู้ในบริบทป็นหนังแบบอ้อมๆ  เพราะเวลาอ่านนิยายมักจะจินตนาการนึกเป็นภาพตามไปด้วย
จนมาเห็นข่าวหนัง Thinner ผ่านทางทีวีหรือสิ่งพิมพ์  ด้วยความที่เป็นข้อมูลผ่านตา ไม่ได้ให้ความสนใจลงรายละเอียด
 ดังนั้นผมจึงจำแค่ว่า Thinner ทำเป็นหนังแล้ว รู้สึกอยากดูจังเลย
จากนั้นไม่รู้ว่าเพราะเหตุใด  ถึงได้เกิดกระบวนการหยิบความทรงจำสองช่วงอายุมาผสมกันโดยไม่รู้ตัว
ระหว่างวัยเด็กวัยที่มีจินตนาการสูงกับวัยรุ่นวัยที่มีกระบวนความคิดสับสนขาดสติได้ง่าย  กลายเป็นความทรงจำปลอม
สมองเก็บบันทึกใหม่ เพียงแต่คราวนี้มันอยู่ในรูปแบบความทรงจำปลอม  ที่ผมดันเผลอไปเชื่อมันอย่างสนิทใจ

พอได้ข้อสรุปให้ตัวเองอย่างนี้ ก็ชักเริ่มสงสัยความทรงจำเรื่องอื่นๆ   มันอาจมีเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นอีกก็เป็นไปได้
แล้วจะรู้ได้ไง เรื่องไหนจริง เรื่องไหนเท็จ  เราจะเชื่อใจความทรงจำได้แค่ไหน  น่าคิดนะ ☺

เครดิตรูปภาพประกอบ :  pixabay , wikipedia , IMDb