วันพฤหัสบดีที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2561

บันเทิงกับการเมือง

กระแสแบนสินค้าเพราะมีดาราคนนั้นคนนี้มาเป็นฟรีเซนเตอร์  ไอ้กระแสแบบนี้ผมเห็นมาเป็นระยะๆในช่วงวิกฤติการเมืองสิบกว่าปีของบ้านเรา
ส่วนตัวแล้วผมมองว่าสำหรับเมืองไทยแบนยากนะ ยากที่จะหลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์ในเครือบริษัทใดบริษัทหนึ่ง
เพราะกลุ่มทุนใหญ่ในไทยมันมีอยู่ไม่กี่กลุ่ม ไล่ไปไล่มาสุดท้ายทุกสินค้าที่เราใช้ประจำวันก็ของพวกเขาหมดแหละ
เอาล่ะ!!! ขี้เกียจขยายความ  วันนี้จะไม่เขียนถึงเรื่องบ้านตัวเอง แต่จะพูดถึงเรื่องบ้านคนอื่นบ้าง

ปฎิเสธไม่ได้ว่าสื่อบันเทิงเป็นเครื่องมือทางการเมืองชั้นดี ถึงแม้การศึกษาจะเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพกว่า
เพราะสามารถหว่านเมล็ดพันธุ์ทางความคิดที่ต้องการฝังหัว แต่มีข้อจำกัดว่าทำได้แค่เฉพาะเด็กและเยาวชน
ในขณะที่สื่อบันเทิงสามารถทำได้ทุกเพศทุกวัยทุกเวลา   กรอกหูผ่านตาทุกวันมีผลทำให้ประชาชนบางส่วนซึมชับยอมรับโดยไม่รู้ตัว

อาจกล่าวได้ว่าหากบุคคลผู้มีอำนาจทางการเมืองหากมีสื่อบันเทิงสนับสนุน  ก็เหมือนได้ประชาสัมพันธ์ชั้นดีมาเป็นกระบอกเสียง
แต่ถ้าสื่อบันเทิงต่อต้าน ภาพพจน์บุคคลนั้นจะดูย่ำแย่ติดลบ แม้ทำผิดเพียงน้อยนิดก็นำเสนอเสียจนเป็นความผิดร้ายแรงไม่อาจยอมรับได้

บุคคลากรในวงการบันเทิงโดยเฉพาะดารานักแสดง เป็นตัวแปรสำคัญที่มีอิทธิพลต่อความคิดทางการเมืองของประชาชน
ดาราจะรักฝั่งไหนเชียร์ฝ่ายไหนมีแนวคิดทางการเมืองแบบไหนเป็นสิทธิส่วนบุคคลของเขา
แต่อย่าลืมว่าดาราสามารถใช้ชื่อเสียงภาพลักษณ์และความดังของตน มาเป็นแรงสนับสนุนขนาดใหญ่ให้ขั้วการเมืองที่ตัวเองเชียร์
กรณีโอบาม่าและทรัมป์เป็นข้อพิสูจน์ในเรื่องเหล่านี้ได้เป็นอย่างดี    ทั้งดาราทั้งสื่อบันเทิงในอเมริกาแสดงออกมาอย่างชัดเจนแจ่มแจ้ง

นับตั้งแต่ทรัมป์ชนะเลือกตั้งได้เป็นประธานาธิบดี  แรงต่อต้านจากคนวงการบันเทิงอเมริกากระแทกออกมาไม่ขาดสาย
อาทิ เช่น โปรเจ็ค He Will Not Divide Us ของ Shia LeBeouf




ซีรีย์ดัง American Horror Story  Cult (Season 7) มาแบบชัดเจนเต็มๆ  ไม่รู้ซีซั่นนี้เรทติ้งเป็นไง  คาดว่าไม่รักก็เกลียดเลย
รวมทั้งการจัดงานต่างๆล้วนต้องมีอะไรให้มาแซะอีตาทรัมป์ตลอด  จนบางครั้งก็รู้สึกว่าดาราบ้านเขาทำตัว "เยอะ" เกินไปหน่อย
เอาเถอะ!! ไม่อยากวิพากษ์วิจารณ์ให้มากนัก  มันเป็นสิทธิ์ของพวกเขาและเป็นการแสดงออกทางประชาธิปไตยอย่างที่ควรเป็น

หนังฮอลลีวู้ดถ้าสังเกตดีๆจะมีสัญลักษณ์ทางการเมือแนบมาด้วยตลอด ตามแต่บริบททางการเมืองของสหรัฐอเมริกาในยุคนั้นๆ
ในช่วงที่โอบาม่าเป็นประธานาธิบดี หนังเกี่ยวกับประเด็นคนผิวสีจะถูกผลิตออกมามากเป็นพิเศษ
เช่น    The Butler (2013) ,   12 Years a Slave (2013) ,  Django Unchained (2012)



สังเกตปีที่ออกฉาย 2012-2013 มันเป็นปีเลือกตั้งและขีี้นตำแหน่งสมัยที่ 2 ของโอบาม่า
เป็นความบังเอิญหรือมีนัยนะอะไรแอบแฝง ก็ไปคิดต่อกันเอาเองแล้วกันนะครับ
หนังสามเรื่องนี้ถือเป็นหนังคุณภาพเยี่ยมได้ทั้งกล่องได้ทั้งเงิน  ประเด็นหลักของหนังทั้ง 3 เรื่องนี้แกนกลางจะว่าด้วยสิทธิของคนผิวสี



The Butler นี่แสดงออกอย่างโจ่งแจ้งมากว่าเชียร์พรรคไหน 
ส่วน Django Unchained แม้จะมีการนำเสนอที่ดุดันเน้นสะใจ แต่กลับมีประเด็นรองที่น่าสนใจให้เก็บไปวิเคราะห์ต่อ
ว่าด้วยการกดขี่เหยียบย่ำสิทธิส่วนหนึ่งก็มาจากคนผิวสีกระทำกันเอง 


                                           

 บางคนอ้างว่ามันเป็นแค่เหตุผลฟอกขาวให้คนขาวดูผิดน้อยลง   แต่ใช่ว่าจะไม่มูล เหตุที่มีการค้าทาสผิวสีกันจนเป็นตลาดใหญ่โต
ปัจจัยหลักก็คนผิวสีในกาฬทวีปด้วยกันเองนี่แหละจับคนต่างเผ่ามาขายให้คนผิวขาว
หากเรามองด้วยสายตาคนปัจจุบันก็ขัดใจไม่น้อย ทำไมถึงทำร้ายกันเองอย่างนี้

ประเด็นพวกนี้เป็นประเด็นที่ไม่ควรมองข้าม คนที่เอาคนมาเป็นทาสนะผิดแน่  แต่คนส่งเสริมกับคนวางเฉยนี่สิจะไม่มีส่วนร่วมในความผิดนี้เลยหรือ

น่าเสียดายที่หนังซูเปอร์ฮีโร่  Black Panther  หลีกเลี่ยงที่จะแตะประเด็นนี้  ทั้งที่ดูจะมีการคาบเกี่ยวกันอยู่
หรือแม้แต่แกนหลักของเรื่องการทำตัวนิ่งเฉยของวากันด้าในประวัติศาสตร์ค้าทาสก็ไม่ขยายความเพิ่ม ไปเน้นผลลัพธ์ปัจจุบันเสียมากกว่า
แต่ปิดเรื่องด้วยประโยคเท่ๆแต่เสียดสีนโยบายทรัมป์เต็มๆ

"But in times of crisis the wise build bridges, while the foolish build barriers. We must find a way to look after one another as if we were one single tribe.”

ถ้า Black Panther สร้างและออกฉายในยุคโอบาม่า  โทนหนังมันจะเป็นยังไงนะ  อาจจะเน้นในส่วนอดีตของตัวร้ายให้หนักขึ้น ว่ารันทดยากแค้นเพียงใด
ประโยคเด็ดปิดท้ายเรื่องก็อาจจะมีอะไรที่มาในทำนอง "Yes We Can"  ☺

วันจันทร์ที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2561

ในฐานะเจ้าของเงิน คุณไม่รู้สึกอะไรบ้างเลยเหรอ ?


งบการศึกษาของเมืองไทยนั้นสูงมาก  หากตั้งใจจะปฎิรูปอย่างจริงจังก็คงสามารถพัฒนาทำได้เต็มที่  
แต่งบที่มากมายนั้นเอาไปใช้ทำอะไรเสียหมด เราถึงได้ระบบการศึกษาด้อยคุณภาพมาตรฐานดิ่งลงเหว

เป็นประโยคที่ผมได้กล่าวไว้ในคุมคลุมเครือ   ปมประเด็นข้อสงสัยที่ว่าทำไมกระทรวงศึกษาธิการ
หน่วยงานที่ได้รับงบประมาณสูงสุดและมีการเพิ่มงบทุกๆปี  แต่ผลงานกลับล้มเหลวโดยสิ้นเชิง
ผมคิดว่าวันนี้สังคมน่าจะพอได้รับคำตอบในคำถามนี้บ้างแล้ว จากกรณีคดีโกงเงินกองทุนเสมาพัฒนาชีวิต

ผมจะไม่อธิบายหรือย่อยข่าวนี้ให้ อยากรู้ไปไล่อ่านและไตร่ตรองกันเอาเอง คำตอบอยู่ตรงหน้าคุณแล้ว เหลือแต่ว่าเลือกที่จะรับรู้หรือไม่
ถ้าคุณจะปิดหูจะปิดตาคิดอย่างปลงตก ก็เพราะมันเป็นเสียอย่างนี้ เมืองไทยโกงกินกันเป็นเรื่องธรรมดา
หาเงินหาทองส่งลูกหลานไปเรียนเมืองนอกดีกว่า คิดแบบนั้นมันก็เป็นสิทธิ์ของคุณไม่มีใครห้ามปราม
แต่อย่าลืม ไม่ว่าคุณจะให้ลูกหลานเรียนเมืองไทยหรือเมืองนอก  คุณยังต้องจ่ายภาษีให้ประเทศนี้อยู่ดี นี่คือเงินของคุณ

ผมเชื่ออย่างมั่นใจว่านี่ไม่ใช่แค่คดีทุจริตยักยอกทรัพย์โกงเงินมหาศาลเพียงคดีเดียวในกระทรวงศึกษาธิการเป็นแน่แท้
ยังมีรอยตำหนิอีกมากมายที่เรายังไม่รู้  ทั้งที่เป็นสิทธิ์ของประชาชนต้องพึงรับทราบ เพราะนี่คือเงินของพวกเราทั้งหมด

ประชาชนให้เงินรัฐในรูปแบบภาษี เพื่อหวังให้รัฐนำเงินไปพัฒนามอบการศึกษาที่ดีมีคุณภาพแก่บุตรหลาน
แต่ประชาชนกลับตรวจสอบไม่ได้  รัฐสงวนให้ใช้กลไกภายในตรวจสอบกันเอง แล้วระบบก็ทำงานอย่างเชื่องช้าอืดอาดจนล่วงเวลาเป็นสิบปี
มันนานมากพอที่จะยืนยันว่าระบบมีปัญหาแน่นอน หากมีใครยืนกรานจะให้ใช้ระบบนี้ต่อไป ก็คงเสียสติอาการหนักเป็นแน่แท้

ปัญหาของกระทรวงศึกษาธิการ เท่าที่ผมพอจะคิดออกตามปัญญาอันน้อยนิด พอจะสรุปสาเหตุหลักได้สามข้อได้ดังนี้

1. มีขนาดใหญ่มากไป
2. รวมศูนย์มากไป
3. ราชการมากไป

สามข้อนี้ดูจะเป็นสาเหตุของปัญหาของหน่วยงานราชการอื่นๆด้วย ไม่ต่างจากกระทรวงศึกษาธิการ

องค์กรที่มีขนาดใหญ่และบริหารงานแบบรวมศูนย์ มันดีในแง่การปกครองแต่ไม่ดีในแง่ผลิตผลงาน
อีกทั้งความอุ้ยอ้ายขององค์กรทำให้มีกระบวนการทำงานล่าช้าขั้นตอนจุกจิก  ต้องรอให้นายคนนั้นคนนี้อนุมัติเสียเวลาโดยใช่เหตุ
ระบบจัดซื้อจัดจ้างก็มีช่องโหว่เปิดทางให้ทุจริตกันเป็นขบวนการ ผลาญงบประมาณของชาติอย่างน่าใจหาย
จนเป็นปัญหาที่ว่าทำไมราชการจ่ายแพงกว่าท้องตลาดแต่ไม่ได้ของดีที่สุดมาใช้งาน

"เช้าชามเย็นชาม"  นิยามข้าราชการที่เราได้ยินจนชินหู  ทั้งที่เราไม่ควรชินกับประโยคนี้ ควรรังเกียจเสียด้วยซ้ำ
การทำงานราชการในแบบไทยๆนั้นไม่มีแรงจูงใจให้ผู้คนในระบบอยากทุ่มเทแรงกายแรงใจเพื่อประโยชน์สูงสุดแก่ประเทศ
แต่เอื้อให้ทำตัวอยู่ไปวันๆเอาตัวรอดให้พ้นไม่ต้องดิ้นร้นให้เหนื่อยนัก  ถึงไม่โดดเด่นไม่มีผลงานยังไงก็ไม่โดนไล่ออก ถ้าไม่ทำผิดร้ายแรง
แต่กว่าจะถึงระดับความผิดร้ายแรงนั้นก็ผ่านกระบวนการตัวช่วยมากมาย  โยกย้ายไปนั่นไปนี้เลี่ยงความผิดไปเรื่อยๆ
มีบำนาญให้กินตอนแก่ ถึงจะเงินเดือนน้อยแต่ก็มีสวัสดิการ มีหลักประกันชีวิตที่ดีกว่าประชาชนคนทั่วไปเสียอีก
(ประเด็นเงินเดือนน้อย น้อยจริงแค่บางส่วนตำแหน่งเล็กๆเท่านั้น ..ขอละไว้ไม่กล่าวถึง)

มันเป็นความจริงนับจากอดีตถึงปัจจุบันไม่เคยเปลี่ยนแปลง  สิ่งที่เปลี่ยนแปลงในระบบราชการมีแค่สภาพแวดล้อมเท่านั้น
จากพิมพ์ดีดมาเป็นคอมพิวเตอร์ กระดาษเอกสารมาเป็นสื่ออิเล็กทรอนิกส์ แต่จิตใจของคนทำงานราชการนั้นยังเหมือนเดิม
คนหนุ่มสาวรุ่นใหม่ไฟแรงเข้าไปทำงาน กี่รุ่นๆสุดท้ายก็โดนระบบกลืนกินกลายเป็นพวกอยู่ไปวันๆ น้อยคนนักที่จะรักษาตัวตนไว้ได้

ถ้าเป็นเอกชน หากมีบริษัทไหนทำงานแบบราชการไทยๆ  แบ๊คไม่ดีทุนไม่หนาก็รอวันเจ๊งได้เลย
เอกชนถ้าอยู่ไปวันๆไม่ขวนขวายไม่พัฒนาไม่สร้างสรรค์ผลิตผลงานแล้วจะเอารายได้มาจากไหน
ต่างจากราชการที่กินภาษีจากประชาชน  ทำงานแย่แค่ไหนแต่ประชาชนก็ต้องเสียภาษีอยู่ดี
แถมตรวจสอบไม่ได้ ว่าเงินภาษีที่ประชาชนเสียไปนั้นเอาไปลงหน่วยงานไหน ทำอะไรบ้าง คุ้มค่าแก่การลงทุนไหม
เงินได้ใช้ไปอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยจริงหรือเปล่า เกิดมีการตกหล่นแอบไปลงกระเป๋าใคร ประชาชนก็ไม่รู้อยู่ดีถ้าเรื่องไม่แดง

ระบบราชการควรเป็นอะไรที่โปร่งใส่ ถ้าประชาชนตั้งข้อสงสัยเมื่อไร ราชการต้องพร้อมเผยข้อมูลตลอดเวลา
ถ้าเราไม่ปฎิรูประบบราชการกันอย่างจริงจัง เหตุการณ์แบบกองทุนเสมาพัฒนามันก็จะเกิดซ้ำรอยจนเป็นวงจรอุบาทว์ไม่รู้จักจบ
ยักยอกไป 88 ล้าน แจกทุนให้เด็กจริงแค่ 77 ล้าน  และทำอย่างนี้มาเป็นสิบปี

ในฐานะเจ้าของเงิน คุณไม่รู้สึกอะไรบ้างเลยเหรอ ?

วันอาทิตย์ที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2561

Altered Carbon

อดีตทหารฝ่ายกบฎถูกตัดสินจำคุกจองจับจิต  ผ่านมา  250 ปีเขาถูกปลุกให้ตื่นขึ้นมาเพื่อไขปริศนาคดีฆาตกรรมมหาเศรษฐี

Altered Carbon  เป็นผลงาน Original Series เรื่องล่าสุดของ NETFLIX  ออกฉายเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา มีจำนวนทั้งสิ้น 10 ตอนจบ
สร้างมาจากนิยายวิทยาศาสตร์ของ Richard K. Morgan เป็นเรืองราวโลกอนาคตในอีก 350 ปีข้างหน้า
ยุคที่มนุษย์สามารถบันทึกจิตวิญญาณตัวเองแปลงเป็นข้อมูลดิจิตอล  และสามารถนำข้อมูลนั้นไปใส่ในกายหยาบร่างไหนก็ได้ 
โดยไม่จำกัดเพศ ไม่จำกัดวัย ไม่จำกัดอายุ จะทำกี่ครั้งก็ได้ถ้าข้อมูลนั้นไม่โดนทำลายให้ราบคาบชนิดกู้คืนไม่ได้
ดังนั้นถ้าใครรวยมีกำลังทรัพย์มากพอสามารถหาร่างใหม่และสำรองข้อมูลตัวเองได้เรื่อยๆ แทบจะอยู่ยาวมีชีวิตเป็นอมตะกันเลยทีเดียว
คอนเซปท์คร่าวๆก็จะประมาณนี้  ช่วงเริ่มต้นดูอาจรู้สึกมึนกับคำศัพท์เฉพาะ เช่น Stack, Sleeve ,Needle Cast  วนไปวนมา มันคืออะไรว้า ? 
สองตอนแรกต้องตั้งใจดูสักหน่อยแต่ทำความเข้าใจได้ไม่ยาก ไม่อธิบายนะครับเพราะผมขี้เกียจเขียน และถือว่าเป็นการทำให้เสียอรรถรสด้วย
โดยส่วนตัวมองว่าเสน่ห์อย่างหนึ่งของหนังไซไฟแนวโลกอนาคต คือคนดูต้องค่อยๆทำความเข้าใจบริบทด้วยตัวเอง
ในอนาคตนอกจากเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้น(หรือตกต่ำลง)  สภาพแวดล้อมเปลี่ยนแปลงเป็นเช่นไร
ผู้คนมีแนวคิด มีมุมมอง มีกฎเกณฑ์อะไรบ้างที่แตกต่างจากยุคปัจจุบัน
นิยาย Altered Carbon วางจำหน่ายปี 2002  พิจารณาดูจากปีเกิดและช่วงอายุของผู้เขียนแล้วก็พอเข้าใจ
ว่าทำไมเขาถึงจินตนาการโลกอนาคตมาในรูปแบบ Dystopia ,Cyberpunk เช่นนั้น มันเป็นแนวคิดร่วมสมัย 
ผมเข้าใจดีเพราะเติบโตมากับความบันเทิงสไตล์ Cyberpunk  ผ่านทางหนัง การ์ตูน นิยาย เกม
ดังนั้นกับประเด็นที่ว่าจิตคืออะไร ตัวตนคืออะไร ความเป็นมนุษย์คืออะไร จึงเป็นคำถามที่ผมเจอมาเจอเอียน
อ่อนล้าและรู้สึกเบื่อหน่ายกับการตีความ  ด้วยเหตุนี้ผมจึงดู Altered Carbon ในแง่ความบันเทิงอย่างเดียวมากกว่า
(คงเพราะความอ่อนล้านี่ล่ะมั้ง ที่ทำให้ผมดู Blade Runner 2049 อย่างเฉยชา ทั้งที่มันเป็นหนังภาคต่อที่รอคอยมาแสนนาน)     
ก่อนจะมาดู  เห็นข่าวผ่านตามีกระแสอวยนักแสดงหญิงตัวละครสำคัญ  ไม่รู้ว่าเป็นแผนการตลาดโปรโมทหนังหรือผมดูหนังไม่เป็นเอง
ไม่ได้รู้สึกว่าเธอคนนั้นจะเล่นดีในระดับน่าชื่นชมเท่าไรนัก ก็เล่นดีนั่นแหละแต่อยู่ในระดับมาตรฐาน
นักแสดงที่เล่นดีจริงๆจนผมประทับใจ กลับเป็นพวกตัวละครรองเสียมากกว่า ควรยกเสียงปรบมือให้พวกเขาเหล่านั้น
ตัวละครไหนที่ต้องเปลี่ยนร่างบ่อยๆ และทุกร่างสามารถทำให้คนดูเชื่อว่าเป็นตัวละครเดียวกัน  นั่นแหละคือความยากของบท
และเป็นความท้าทายของทีมงานว่ามีฝีมือจัดการได้ดีเพียงใด   มองว่าจุดนี้น่าชื่นชมมากกว่าเสียอีก...                                            
ถึงแม้สาระของ Altered Carbon จะไม่มีความสดใหม่สำหรับผม แต่ในแง่ความเพลิดเพลินถือว่าสอบผ่านได้คะแนนดีเลยทีเดียว
ตัวหนังติดเรทมีความรุนแรงพอสมควร  ผู้ปกครองควรพิจารณาก่อนให้เด็กและเยาวชนดู

เครดิตรูปภาพประกอบ : https://www.imdb.com/

วันอาทิตย์ที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561

คุมคลุมเครือ

ผมเป็นผลผลิตจากระบบการศึกษาไทยเต็มร้อยอย่างไม่ต้องสงสัย ทั้งแนวคิด ทั้งอุดมการณ์ ทั้งรูปแบบประชาชนตามอุดมคติของรัฐ
ล้วนถูกปลูกฝังรากลึกอยู่ในหัวผ่านระบบการศึกษาตั้งแต่เด็กจนโต  ฝังแน่นหนาจนยากที่จะขุดถอนรากถอนโคนออกมา
ดังนั้นผมจึงรู้ดีว่าสิ่งเหล่านั้นมันมีอิทธิผลต่ความคิดเพียงใด ถึงแม้ความรู้เพิ่มพูนประสบการณ์มากขึ้น
จนสามารถไตร่ตรองสร้างกระบวนความคิดอย่างมีตรรกะเหตุผล ได้เห็นแจ้งว่ามีสิ่งผิดปกติมีเรื่องไม่ถูกต้องในสังคม
แต่ถ้าความคิดนั้นมันขัดแย้งกับสิ่งที่ปลูกฝังไว้  ลึกๆในใจก็จะมีอะไรบางอย่างมาคอยกดทับฉุดรั้งไว้

วิธีคิดแบบเชิงวิพากษ์เป็นสิ่งที่ขาดแคลนในระบบการศึกษาของไทย  เหตุเพราะรัฐในยุคเริ่มต้นต้องการพลเมืองที่เชื่อฟังทันทีโดยไม่ต้องคิด
การไร้ความคิดเชิงวิพากษ์นั้นดีและง่ายสำหรับการปกครอง เมื่อประชาชนไม่ตั้งคำถาม จะจัดการอะไรก็ง่ายดาย
แต่ทว่าสังคมที่คล้อยตามทุกอย่างโดยไม่ไตร่ตรอง ปลายทางแล้วจะนำมาสู่ความวุ่นวายมากกว่าความสงบสุข
ผมมองว่าสังคมไทยอยู่ ณ สุดปลายทางนั้นแล้ว  ความวุ่นวายทางการเมืองในตลอดสิบกว่าปีที่ผ่านมาพิสูจน์ได้เป็นอย่างดี
ว่าการคล้อยตามเชื่อทุกอย่าง โดยไม่แม้จะฉุกคิดตั้งคำถาม พิสูจน์ข้อเท็จจริง มันนำพาปัญหาให้ลุกลามต่อเนื่องเรื้อรังเพียงใด
เป็นเรื่องน่าเศร้าที่ประชาชนโดนชักจูงให้กระทำการบางอย่าง เพื่อผลประโยชน์ของกลุ่มคนบางกลุ่ม โดยที่ประชาชนไม่ได้อะไรกลับมาเลย
และเป็นเรื่องตลกที่ขำไม่ออก เมื่อประชาชนผู้โดนชักจูงกลับทำตัวเป็น IO ปกป้องผู้เก็บเกี่ยวผลประโยชน์เสียเอง

สังคมที่คิดเชิงวิพากษ์ไม่เป็นจะทำให้คนฉลาดกลายเป็นคนโง่ในบางเรื่อง  นี่คือปัญหาใหญ่ที่ทำให้สังคมไทยไปต่อไม่ได้ 
แล้วเราจะแก้ปัญหานี้ได้อย่างไร?  หากแก้ที่ปัจจุบันคงไม่ทันเสียแล้ว  เพราะการเปลี่ยนความคิดคนที่โดนฝังหัวไปแล้วนั้นเป็นเรื่องยาก
ถึงแม้รู้สึกตัวได้เองก็จะมีอะไรรั้งไว้ในใจอยู่ดี ดังที่ผมเกริ่นในย่อหน้าแรก
เราต้องแก้ที่อนาคตโดยการปฎิรูปการศึกษา ในเบื้องต้นสิ่งสำคัญสุดต้องปลูกฝังความคิดเชิงวิพากษ์ให้เด็กทุกคนหัดตั้งคำถามให้เป็น
ต้องปล่อยให้เด็กกล้าที่จะพูดและผู้ใหญ่ก็ต้องยอมรับฟังทุกเรื่อง  ไม่ทำตัวใจคอคับแคบฟังเด็ํกพูดเฉพาะเรื่องที่ตัวเองอยากฟัง มันทุเรศ
แล้วเมื่อเด็กพวกนี้เติบโตเป็นผู้ใหญ่ เขาก็จะเป็นแรงขับเคลื่อนทำให้สังคมเกิดการเปลี่ยนแปลงมีทางเดินหน้าไปต่อได้

งบการศึกษาของเมืองไทยนั้นสูงมาก  หากตั้งใจจะปฎิรูปอย่างจริงจังก็คงสามารถพัฒนาทำได้เต็มที่
แต่งบที่มากมายนั้นเอาไปใช้ทำอะไรเสียหมด เราถึงได้ระบบการศึกษาด้อยคุณภาพมาตรฐานดิ่งลงเหว
หรืองบที่ทุ่มเทมากมายนั้นเอาไว้ใช้เพื่อดำรงความคลุมเครือควบคุมความคิดของประชาชน
เราไม่อาจบอกว่่านี่คือล้มเหลวของระบบการศึกษาไทย เพราะผลลัพธ์ที่ได้มานั้นตรงตามจุดประสงค์แรกเริ่มของรัฐ 
ต้องการพลเมืองที่เชื่อฟังอย่างเดียว เพื่อสร้างชาติให้เป็นปึกแผ่น  แต่นั่นเป็นเหตุผลตามบริบทของยุคสมัย
ในอดีตอาจเป็นเรื่องจำเป็นที่ต้องทำเช่นนั้น แต่ในปัจจุบันนี้ยังมีความจำเป็นต้องทำเช่นนั้นอยู่อีกหรือ
หรือคุณภาพพลเมืองไม่สำคัญเท่ากับการรักษาฐานอำนาจ ?


วันจันทร์ที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2561

The Sinner , Mr.Robot , Dark

"ตั้งหน้าจอมือถือเป็นรูปผีน่ากลัว เพื่อกันไม่ให้ลูกเล่นมือถือ"
เห็นแล้วก็อึ้งทึ่งปนสงสัย มุกหลอกให้กลัวนั้นกลัวนี้เพื่อให้เด็กอยู่ในโอวาทคำสั่ง  ยุคนี้แล้วยังจะใช้วิธีนี้เลี้ยงลูกกันอยู่อีกหรือ
ไอ้เรื่องปัญหาครอบครัวการเลี้ยงดูเด็ก  ส่วนตัวแล้วไม่อยากวิพากษ์วิจารณ์  เพราะตัวเองเป็นคนไม่มีครอบครัวไม่มีลูก
ยอมรับว่าไม่อาจเข้าใจหัวอกคนเป็นพ่อเป็นแม่ได้เต็มร้อย  ไม่สามารถมองมิติของปัญหาได้ครบถ้วน

แต่อยากจะเตือนสักเล็กน้อยว่า วัยเด็กนั้นสำคัญมาก สิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตช่วงนี้มันสามารถมีผลกระทบต่อชีวิตตลอดไป
การหลอกให้เด็กกลัวโดยผู้ใหญ่เอาเหตุผลไปซ่อนไว้ แล้วบิดเบือนแทนที่ด้วยภาพมายา  มันเป็นตรรกะวิบัติ
ทำซ้ำกันจนเป็นวงจรอุบาทว์ฝังรากลึกในสังคม  เพราะเมื่อเด็กโตเป็นผู้ใหญ่มีครอบครัว ก็ใช้ตรรกะนี้สั่งสอนลูกตัวเองสืบต่อ 
สังคมเราเลยกล้าเป็นสังคมที่กลัวในสิ่งที่ไม่มีเหตุผล กลัวเพราะมีคนบอกให้กลัว  กว่าจะคิดได้ว่าทำไมต้องกลัว 
บางคนใช้เวลาทั้งชีวิตกว่าจะคิดออก บางคนแม้ตายแล้วก็ยังคิดไม่ออก

เฮ้อ...  เขียนอะไรเข้าใจยากอีกแล้ว พอดีกว่า  หลาย Entry ที่ผ่านมาเขียนแต่ไรหนักๆ ชีวิตจะเครียดอะไรกันนักกันหนา
เขียนเรื่องเบาๆบ้างดีกว่า   Entry นี้จะพูดถึงเฉพาะหนังซีรีย์ที่ได้ดูจนจบในช่วงที่ผ่านมา
...
..
.


The Sinner    ตัวเอกเป็นคุณแม่วัยสาว  ในขณะที่พักผ่อนหย่อนใจนั่งอยู่บนชายหาดกับสามีและลูกน้อย
อยูดีๆเธอก็ลุกขึ้นมา และได้ใช้มีดปอกผลไม้เข้าไปจ้วงแทงชายหนุ่มที่กำลังพลอดรักแฟนสาวอยู่ไม่ไกลจากครอบครัวของเธอ
ชายคนนั้นเสียชีวิต  ผู้คนต่างตกใจแตกตื่นกันทั้งชายหาดและเธอก็ไม่รู้ว่าทำไมตัวเองถึงได้ก่อคดีฆาตกรรมไม่คาดฝันเช่นนี้


โดยรูปการณ์แล้วเหมือนจะเป็นคดีที่ปิดได้ง่ายดาย  เพราะหลักฐานชัดเจน มีพยานเป็นร้อย ผู้ต้องหารับสารภาพทุกข้อกล่าวหา
แต่นายตำรวจผู้รับผิดชอบคดีนี้กลับไม่คิดเช่นนั้น  อาจเพราะปัญหาชีวิตส่วนตัวหรือเพราะปมบิดเบี้ยวในใจเขา
กระตุ้นเตือนบางอย่างว่าคดีนี้ต้องมีความลับอะไรซ่อนอยู่....

ดูหน้าหนังเฉยๆ  อ่านพล็อทเรื่องย่อก็น่าสนใจนิดหน่อย มันน่าเป็นตอนย่อยตอนหนึ่งในซีรีย์สืบสวนสักเรื่องมากกว่า
แต่ในการดำเนินเรื่องทั้ง  8 ตอน กลับสร้างความน่าติดตามได้อย่างลงตัว  ทุกตอนๆสามารถทำให้คนดูเกิดประเด็นให้ขบคิด ตั้งทฤษฎีใหม่ๆขึ้นมา



บทสรุปของเรื่องเดาได้ไม่ยากนัก มันไม่ได้หักมุมจนอึ้งต้องลุกขึ้นมาตบมือ  เพราะประเด็นหลักของเรื่องไม่ใช่ปริศนาแต่เป็นโศกนาฎกรรม
ตัวละครที่ทำให้ผมรู้สึกเห็นใจมากที่สุดในหนังเรื่องนี้ไม่ใช่นางเอกแต่เป็นนายตำรวจ
เพราะเมื่อถึงบทสรุปสุดท้าย  เรื่องราวทุกอย่างมีคำตอบที่ลงตัว  เหลือแต่ปัญหาของนายตำรวจที่ยังค้างคาและคงติดอยู่ในชีวิตของเขาตลอดกาล
หรือว่าคนที่เป็น The Sinner  แท้จริงแล้วไม่ใช่นางเอก แต่เป็นนายตำรวจคนนี้ต่างหาก
...
..
.





Mr.Robot  ซีรีย์แฮกเกอร์เล่นใหญ่ แฺฮ็คจนระบบการเงินล่มสลายเศรษฐกิจพังยับเยินดำเนินเรื่องมาถึงภาค 3 
เป็นอีกหนึ่งซีรีย์ที่โดนกาดอกจันหมายหัวขึ้นบัญชีเตรียมเลิกติดตามไว้อยู่   ถ้า Season 3 ไม่ดีพอดรอปทิ้งแน่นอน

เพราะจากการประสบความสำเร็จใน Season 1  ได้รับเสียงชมและสร้างแฟนๆผู้ติดตามขึ้นมามากมาย
ทำให้ผู้สร้างได้ใจติสท์แตกหรือคิดเอาเองว่าทำแบบนี้แล้วแฟนๆชอบก็ไม่อาจทราบได้
ผลที่ตามมา  Season 2  เลยมัวแต่ยืดยาดลากไปหลายตอนกับประเด็นที่มันสามารถจบได้แค่ใน 1-2 ตอน 
เสียเวลาจนเนื้อเรื่องหลักไม่คืบหน้า ให้น้ำหนักเนื้อหาผิดสัดส่วนอย่างไม่น่าให้อภัย เล่นเอาซะแฟนๆผิดหวังเกิดอาการเซ็งไปตามกัน 
รวมทั้งการทิ้ง Hint เพิ่มปมใหม่ๆเข้ามา  มันชวนให้คิดว่าจะส่อแววกลายเป็นซีรีย์พาเที่ยวทะเลในไม่ช้า
พลอยทำให้เรทติ้ง Mr.Robot ตกฮวบฮาบ ความเสียหายไม่ได้จบแค่ Season 2 มันส่งผลกระทบมาถึง Season 3 ด้วย




ไม่รู้ว่าช่วง Season 2 มีแฟนๆเข้าไปบ่นด่าจัดหนักกันมากขนาดไหน ทำให้ Season 3  ดูแล้วรู้สึกได้เลยว่านี่เป็นงานไถ่บาป 
ทีมงานยอมรับข้อผิดพลาดและพยายามแก้ไขอย่างสุดฝีมือ  โดยรวมแล้วถือว่า Season 3  เป็นงานดีมีคุณภาพ
เดินเรื่องได้เร่งรุกฉับไวพยายามเล่าให้มากที่สุด   หากเปรียบการเดินเรื่องของ Season 1 เป็นคนใส่รองเท้าแตะเดินเอื่อยๆ
Season  2  ก็คงเป็นคนเดินเท้าเปล่า ก้าวหน้า 3 ก้าวแล้วถอยหลัง 2 ก้าว  แต่ Season 3 นี่เรียกว่าคนใส่รองเท้ากีฬาปั่นเท้าวิ่งกระหน่ำแบบไม่คิดชีวิต

ส่วนตัวมองว่าเนื้อหาบางจุดของ Season 3  มันควรอยู่ใน Season 2  มากกว่า  เพราะจะขยายความอํธิบายลำดับที่มาที่ไปให้เหตุผลได้ชัดเจนกว่านี้
พออัดทุกอย่างลงใน Season 3 เพราะต้องการเร่งเนื้อเรื่อง มันเลยมีบทหลุดไม่เนียนออกมา  ถ้าไม่จ้องจับผิดนักก็ไม่รู้สึกขัดใจหรอกแค่ตะหงิดเล็กๆ



แต่ถึงกระนั้นต้องยอมรับว่า Season 3 สนุกจริง  มีปล่อยหมัดเด็ดทุกตอน  ไม่มีกั๊กไม่ลากเรื่องให้เสียอารมณ์
เป็นที่น่าเสียดายโดยคุณภาพเนื้องานชอง Season 3 สามารถสร้างเรทติ้งให้สวยงามได้ไม่ยาก
แต่ไปติดตรงความเสียหายที่ Season 2 ได้ก่อไว้  ทำศรัทธาแฟนๆหดหาย กลายเป็นตัวฉุดกระชากชลอเรทติ้ง
ผมเองเปิด Season 3  มาดูไปได้สองตอนยอมรับว่าดรอปทิ้งไปชั่วขณะ เปลี่ยนไปดูอย่างอื่นแทนเพราะยังรู้สึกเซ็งจาก Season 2 ไม่หาย 
กว่าจะกลับมาดูจนจบก็นานโขหลายสัปดาห์อยู่
...
..
.




Dark   ก่อนจะได้ฤกษ์ฉาย เห็นในบ้านเรามีกระแสฮือฮาอยากดู คาดหวังว่ามันจะให้ความบันเทิงเหมือน  Stranger Things
แต่ผมเห็นแววว่ามันไมใช่ตั้งแต่ต้นแล้วล่ะครับ เพราะเป็นหนังจากภาคพื้นยุโรป อารมณ์มันจะไม่เหมือนหนังฮอลลีวู้ดที่บ้านเราคุ้นเคย
ทางยุโรปเขามักจะเดินเรื่องแบบเนิบนาบนุ่มลึก   ถ้าคนไม่ชินการเดินเรื่องแบบนี้เกรงว่าจะพาลเบื่อเสียก่อน

Dark เป็นซีรีย์หนังเยอรมันมีทั้งหมด  11 ตอน (ยังไม่จบ มีปมต่อ Season 2 ) และแน่นอนพูดภาษาเยอรมันกันทั้งเรื่อง 
ด้วยเหตุนี้เลยตั้งใจดูมากเป็นพิเศษเพราะผมฟังภาษาเยอรมันไม่รู้เรื่อง จำเป็นต้องอ่านซับตลอด




เรื่องราวของ Dark เกิดขึ้นในเมืองเล็กๆแห่งหนึ่งในประเทศเยอรมัน  เมืองนี้มีความพิเศษตรงเป็นที่ตั้งโรงงานไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์ 
เมืองเหมือนดูสงบสุขเรียบร้อยดีแตก็มีคดีสะเทือนขวัญการหายตัวไปอย่างลึกลับของพวกเด็กๆ



ประเด็นหลักของ Dark นั้น  จะว่าด้วยการเดินทางข้ามเวลาคาบเกี่ยวกันถึงสามยุคสมัยของเมืองนี้  ที่ปี 2019 ,  ปี 1986  และปี 1953
เห็นความสัมพันธ์อันยุ่งเหยิงและน่าเจ็บปวดของผู้คนในเมืองจากรุ่นสู่รุ่น  ผลกระทบจากอดีตไปปัจจุบัน สู่อนาคต
โดยตัวหนังจะอิงทางวิทยาศาสตร์ทฤษฎีรูหนอน แต่แอบแฝงไปด้วยปาฎิหาริย์ความลึกลับที่ยากอธิบาย

ถึงแม้จะดำเนินเรื่องเนิบๆสไตล์ยุโรปพร้อมกับเนื้อหาที่ดูสับสนเพราะว่าด้วยช่วงเวลาที่ต่างกัน 
แต่หนังกลับเล่าเรื่องได้ไม่งง(ถ้าตั้งใจดู)  เพราะงานละเมียดบรรจงตั้งใจเก็บรายละเอียดมีความน่าติดตามสูงมาก
ผมสามารถดูติดๆกัน 4 ตอนรวดโดยไม่รู้สึกง่วงเหงาหาวนอนเลยสักนิด   ดูแล้วก็รู้สึกคันมือยิกๆ อยากจะเขียน Family Tree กับ Timeline

หนังมีบรรยากาศของยุค 80  แต่ไม่ได้ใช้เป็นจุดขายหลักแบบ Stranger Things อีกทั้งมันเป็นยุค 80 ของเยอรมันและตัวเมืองก็ดูเป็นชนบทยุโรป
หนังโฟกัสที่ปี 1986  เยอรมันในยุคนั้นยังแบ่งเป็นตะวันออกกับตะวันตกอยู่  (กำแพงเบอร์ลินโดนทุบปี 1989)
ซึ่งเราคนไทยส่วนใหญ่ไม่มีประสบการณ์ร่วมกับบรรยากาศแบบนี้  ถ้าพูดถึงเยอรมันสมัยนั้นก็คงนึกถึงแต่วง Scorpions มาก่อน

ต่างจาก Stranger Things ที่เป็น ยุค 80 ของอเมริกา ซึ่้งหลายๆอย่างในยุคนั้นบ้านเราได้รับอิทธิพลมาจากอเมริกามาไม่น้อย 
พอได้เห็นโฆษณาหนัง The Terminator แล้วอดอมยิ้มไม่ได้ หรืออินโทรเพลง Runaway ของ  Bon Jovi   ดังขึ้นมา  แหม!! ใช่เลย นี่แหละยุค 80



เครดิตรูปภาพประกอบ :  http://www.imdb.com/