วันเสาร์ที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2560

[บันทึกความรู้] การประมวลผลเชิงวิเคราะห์แบบออนไลน์ (Online Analytical Processing: OLAP)

จากหลักสูตรเรียนออนไลน์ RSU-MOOC: rsu001 ฉลาดด้วยข้อมูล ใครๆ ก็ทำได้ (คลังข้อมูลและการทำเหมืองข้อมูล)
เนื้อหาก่อนหน้านี้ :  การออกแบบและสร้างคลังข้อมูล

OLAP ย่อมาจาก Online Analytical Processing
นิยามทาง Software คือ เครื่องมือ ที่สามารถวิเคราะห์และเสนอข้อมูลในมิติต่างๆจาก Data Warehouse
มีคุณสมบัติเรียกดูข้อมูลได้อย่างรวดเร็ว  Queryใช้เวลาน้อย  มีการทำงานที่ไม่ขึ้นกับขนาดและความซับซ้อนของฐานข้อมูล
แอพพลิเคชั่น OLAP ถูกออกแบบให้ช่วยงานการวิเคราะห์ข้อมูล เปรียบเทียบ ,นำเสนอมุมมองเฉพาะ ,ย้อนหลัง
และคาดการณ์ข้อมูลในอนาคตตามโมเดล What if Analysis

OLAP ไม่เหมาะที่จะนำไปใช้กับงานที่มีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลมากๆตลอดเวลา  ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่เข้ากันได้ดีกับ Data Warehouse
 เพราะธรรมชาติของ Data Warehouse นั้นจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลยกเว้นเหตุจำเป็น


OLAP Server  จะตั้งอยู่ระหว่าง Client กับ DBMS (Database Management system)
มีหน้าที่จัดรูปแบบนำเสนอรายงานและวิเคราะห์ฐานข้อมูล    โดยรายงานนั้นจะมีอยู่สองรูปแบบ
 - Routine Report คือ รายงานที่ทำเป็นประจำ  สร้างขึ้นด้วยระบบอัตโนมัติแล้วกระจายส่งให้หน่วยงานต่างๆที่ใช้งานประจำ
 - Ad Hoc On Demand  คือ รายงานเฉพาะกิจ นานๆทำครั้งหนึ่ง   ทำตามผู้ใช้งานร้องขอ Ad Hoc Query
       การทำ Ad Hoc Query  จะใช้ SQL (Structure Query Language)


นิยามของ OLAP ที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลและทำรายงาน
นั้นจะหมายถึง กระบวนการวิเคราะห์แบบโต้ตอบและสำรวจในข้อมูลหลายมิติเพื่อค้นหารูปแบบที่น่าสนใจ
OLAP ประกอบไปด้วย 2 ส่วน  ได้แก่  ส่วนของข้อมูลกับส่วนที่ทำให้ผู้ใช้มองเห็นข้อมูลในลักษณะ Multidimensional
แยกออกมาได้ 3 ประเภท
1. MOLAP (M - Multidimensional) 
คือ DBMS ที่ถูกออกแบบมาเพื่อเก็บข้อมูลแบบ Dimensional โดยเฉพาะ
-  เก็บข้อมูลหลายมิติในลักษณะ Array
-  มี Index ในการเข้าถึงข้อมูลได้อย่างรวดเร็ว
- Data Warehouse สร้างโดยใช้แบบจำลองหลายมิติ โดยมองข้อมูลในลักษณะลูกบาศก์

2. ROLAP (R - Relational)
คือ DMBS ที่มี่ความสัมพันธ์ภายในมิติ  โดยใช้ Model โครงสร้าง   Star Schema
และหรือ Snowflake Schema (ย้อนกลับไปดูบทที่แล้ว การออกแบบและสร้างคลังข้อมูล)
-  ใช้ RDMBS (ระบบจัดการฐานข้อมูลเชิงสัมพันธ์) ในการเก็บและจัดการข้อมูลภายใน Data Warehouse
-  ใช้ OLAP Software ในการตอบคำถามที่ต้องการ
-  ใช้ SQL ในการเข้าถึงข้อมูล
-  สามารถใช้กับข้อมูลขนาดใหญ่มากๆ

3. HOLAP (H - Hybrid)
เป็นการผสมระหว่าง ROLAP (ใช้ในระดับล่าสุด) กับ MOLAP มีความยืดหยุ่นต่อการใช้งานสูง

เนื้อหาต่อไป : Business Intelligence

 



วันศุกร์ที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2560

Your Time Capsule จัด Playlist เพลงดักแก่

Spotify มีอะไรเด็ดๆมาให้เล่นอีกแล้ว   งานนี้ได้ดักแก่กันอย่างเมามันส์
ไม่รู้มีมาให้เล่นกี่วันแล้ว พอดีผมพึ่งเห็น  เข้าไปตาม Link นี้เลย  https://timecapsule.spotify.com/ 
ถ้าใช้แอพก็เข้าไปใน Browse > Decades > Your Time Capsule


Your Time Capsule  เป็น Playlist ที่จัดเพลงมาให้อัตโนมัติ โดยคำนวนจากอายุของผู้ใช้งาน ว่าในสมัยวัยสะรุ่นของผู้ใช้งานมีเพลงอะไรดังๆโดนๆบ้าง  เพลงแห่งความทรงจำ ฟังแล้วคิดถึงยุคนั้น

เท่าที่ลองใช้  มันก็โอเคจัดได้โดนใจจริงๆ   สำหรับคนฟังเพลงต่างประเทศเป็นหลักคงถูกใจ 
แต่คอเพลงไทยอาจจะขัดใจเล็กน้อย เพราะจัดเพลงไทยมาให้น้อยมาก  งานนี้ต้องเข้าใจ Spotify เขาหน่อย
พึ่งเข้ามาบ้านเรายังไม่ถึงปี  ฐานข้อมูลเพลงไทยยังไม่เข้าที่เข้าทางดีนัก

 เดาว่า Algorithm ที่ใช้ในการจัด Playlist  Your Time Capsule  น่าจะมีการแอบดู Playlist ส่วนตัว
หรือ History เพลงที่ฟังประจำของผู้ใช้งานด้วย  แล้วเอามาคำนวนเทียบปีเอา
ถ้าหักลบคำนวนแล้วเป็นเพลงเก่าออกวางจำหน่ายตรงช่วงที่ผู้ใช้งานเป็นเด็กหรือวัยรุ่นพอดี ก็จับมาลง Playlist ด้วย
อาจจะมีการวิเคราะห์ต่อไป ว่าเพลงนั้นเป็น Genre แนวอะไร  เช่น ถ้าส่วนใหญ่เป็นแนว Rock 
ก็มีความเป็นไปได้ว่าผู้ใช้งานสมัยวัยรุ่นเป็นขา Rock   เมื่อได้ผลวิเคราะห์ตามนี้ ก็ดึงเพลง Rock ดังๆสมัยนั้น
มาผสมโรงลง Playlist ลงไปด้วย เพื่อเพิ่มความถูกใจให้ผู้ใช้งาน
ย้ำว่าเป็นการเดา คิดทึกทักจินตนาการเอาเองนะครับ   Spotify อาจไม่ได้ทำแบบนี้ก็ได้

พิจารณาจาก Your Time Capsule ของตัวเอง  ยอมรับว่าจัดมาได้ถูกต้องเกิน 80%
จริงๆแล้ว ใน Spotify  ผมเปิดเพลงต่างประเทศแนว Jazz กับ Country บ่อยมาก
 เพลงแนวนี้เปิดฟังได้ตลอดเวลาทั้งตอนทำงาน ทั้งตอนพักผ่อน ฟังเพลินดีครับ 
ส่วนเพลงไทยแทบไม่ค่อยได้ฟัง เพลง Rock ก็ฟังเรื่อยๆแต่ไม่ถี่เท่า Jazz
รู้สึกทึ่งนิดหน่อยที่ Your Time Capsule ของผมนี่หนักไปทาง Rock     ส่วน Jazz ไม่มีโผล่สักกะเพลง
คงคำนวนช่วงอายุผมและทำการวิเคราะห์ไปแล้วล่ะ  Jazz น่าจะมาชอบฟังตอนโตเป็นผู้ใหญ่ ยุคนั้นฟังแต่ Rock ตามประสาวัยรุ่น

ยกตัวอย่าง  15 อันดับแรกใน Your Time Capsule ของผมมาแปะให้ดู  โอ้โฮ !!!! รู้จักหมดทุกเพลงเลย
 แต่ 15 อันดับหลังที่ไม่ได้แปะข้อมูลมาให้ด้วย  มีบางเพลงไม่รู้จัก แต่เคยได้ยินผ่านหูอยู่



Fast Car นี่น่าจะมาจากเหตุการณ์ มันติดอยู่ในหูมาสองเดือน  เลยกลายเป็น History บันทึกเพลงเก่าที่ผมชอบไปโดยปริยาย
ถ้าไม่มีเหตุการณ์นั้น Fast Car อาจไม่ติด เพราะดูๆแล้วไม่มีอะไรเชื่อมโยงไปถึงเพลงนี้ได้เลย


แปลกใจนิดหน่อยที่เพลงของ Bon Jovi ติดเยอะกว่าศิลปินวงอื่น  ชอบนะ ไม่ใช่ไม่ชอบ  เพลงที่เลือกมาให้ก็ถูกใจ คลาสสิคมากๆ
 คือถ้านับตามฟฤติกรรมความคุ้นเคยส่วนตัว  ในบรรดาเพลง Rock  ทุกวงทุกศิลปินที่โผล่ใน Playlistนี้
 ผมเปิด Oasis ฟังถี่สุดแล้วล่ะ แต่ไหงติดแค่เพลงเดียวเองหว่า !!?
แต่โอเคที่ Wonder wall  ติด มันเป็นเพลงที่ชอบมากที่สุดของ Oasis แล้วล่ะ  สมัยวัยรุ่นฟังจนเทปยืด



จากใน Playlist นี้จะเห็นได้ว่ามีเพลงไทยอยู่ 4 เพลง  สองเพลงแรกถูกต้องโดนใจ  เป็นเพลงสมัยวัยรุ่นและเป็นเพลงโปรดด้วย 
แต่สองเพลงหลังนี่ควรเรียกว่าเพลงในวัยเด็กมากกว่า

Your Time Capsule ก็เป็นอีกหนึ่งลูกเล่นที่น่าสนใจของ Spotify ลองเข้าไปเล่นดู
คุณอาจจะเจอเพลงเก่าที่ฟังแล้วชวนให้คิดถึงความทรงจำอันหอมหวาน



[บันทึกความรู้] การออกแบบและสร้างคลังข้อมูล

จากหลักสูตรเรียนออนไลน์ RSU-MOOC: rsu001 ฉลาดด้วยข้อมูล ใครๆ ก็ทำได้ (คลังข้อมูลและการทำเหมืองข้อมูล)
เนื้อหาก่อนหน้านี้ :  คลังข้อมูล (Data Warehouse) คืออะไร

หลักการออกแบบคลังข้อมูลแบบ Star Schema และ Snowflake Schema
การออกแบบ Data Warehouse จะใช้ Dimensional Model  ในการออกแบบโครงสร้างพื้นฐานของระบบฐานข้อมูล  จะทำในลักษณะของลูกบาศก์ (Cube) โดยจะเป็นรูปลูกบาศก์ที่มีมุมมองหลากหลาย ประกอบด้วยส่วนประกอบสำคัญ 2 ส่วนคือ Dimension Table (ตารางแกนมิติ) กับ Measure (ค่าที่ต้องการวัด )

Dimensional Model เป็นการทำให้ฐานข้อมูลดูง่ายขึ้นต่อการทำความเข้าใจ
โดยมองภาพฐานข้อมูลเป็นลูกบาศก์ ซึ่งจะมีกี่มิติก็ได้    แต่ต้องสามารถหั่นแบ่งออกมาเป็นลูกเต๋า
ตัดข้อมูลช่วงใดช่วงหนึ่งมาวิเคราะห์และหมุนดูทุกด้านของลูกเต๋าได้
ยกตัวอย่าง เช่น   ขายสินค้า(Product) ในหลายๆที่ (Market) ในช่วงเวลาต่างกัน (Time)
เราจะใช้ Dimensional Model ออกแบบ โดยเป็นลูกบาศก์ 3 มิติของ Product,Market,Time
 แต่ละจุดภายในที่เกิดจากการตัดของ 3 มิตินี้    นั่นก็คือผลลัพธ์ทางธุรกิจ เมื่อพิจารณาจาก   Product,Market,Time พร้อมกัน

1. Star Schema (โครงสร้างแบบดาว)
Star Schema เป็น Dimensional Model ที่มีรูปร่าง Diagram คล้ายรูปดาว
ประกอบไปด้วยตารางหลักที่อยู่ตรงกลางเรียกว่า Fact Table(ตารางค่าที่แท้จริง)  เป็นศูนย์รวมข้อมูล
และรายล้อมไปด้วยตารางที่เรียกว่า Dimensional Table (ตารางแกนมิติ)
ซึ่งจะมีกี่ตารางก็ได้   แต่ในแต่ละตารางนั้นต้องมี Key ที่สัมพันธ์ไปยัง Fact Table ตารางเดียวเท่านั้น
สัมพันธ์กันแบบ Single Join และจะไม่สัมพันธ์กับ Dimensional Table อื่นๆ 
ดังนั้น Fact Table จึงเป็นตารางเดียวที่มี Multiple Join


โดรงสร้างแบบ Star Schema  ข้อมูลจะเป็นแบบ Denomalized  และเนื่องจากความสัมพันธ์ระหว่างตารางไม่ซ้บซ้อน   ทำให้สามารถสืบค้นข้อมูลได้อย่างรวดเร็ว

2. Snowflake Schema (โครงสร้างแบบเกล็ดหิมะ )
แตกต่างจาก Star Schema ตรง Dimension Table มีหลายระดับ และระหว่าง Dimension Table มี Key ที่เชื่อมโยงกัน

 
ดังนั้นโครงสร้างแบบนี้จะซับซ้อนมาก สืบค้นยาก  ลักษณะของข้อมูลมีความเป็น Normalized


 Fact Table (ตารางค่าที่แท้จริง)
เป็นตารางหลักเก็บข้อมูลที่ต้องการนำมาวิเคราะห์  โดยปกติข้อมูลในตารางนี้จะไม่มีการแก้ไข ยกเว้นกรณีเพิ่มข้อมูลใหม่
ข้อมูลที่เก็บอยู่ใน fact table เรียกว่า grain of fact table
แต่ละ Record ของ Fact Table  เป็นการสรุปรวมข้อมูลทั้งหมดที่เกิดจาก Intersection ของทุกๆ Dimensions

Dimension Table (ตารางแกนมิติ) 
- เก็บคำอธิบายของแต่ละ Dimension  อธิบายทุกๆสมาชิกใน Table ว่าประกอบด้วย Attributes อะไรบ้าง
Attributes ที่ดีต้องเป็นตัวอักษร และต้องแยกออกจากกัน
-  เก็บความหมายของรหัสที่ใช้ในค่าที่ต้องการวัด (Measure)  เช่น  ตารางที่ไว้เก็บรหัสสินค้ารายละเอียดสินค้า   เป็นต้น

เนื้อหาต่อไป :   การประมวลผลเชิงวิเคราะห์แบบออนไลน์ (Online Analytical Processing: OLAP)

[บันทึกความรู้] คลังข้อมูล (Data Warehouse) คืออะไร

จากหลักสูตรเรียนออนไลน์ RSU-MOOC: rsu001 ฉลาดด้วยข้อมูล ใครๆ ก็ทำได้ (คลังข้อมูลและการทำเหมืองข้อมูล)

คลังข้อมูล (Data Warehouse) คือ  ระบบฐานข้อมูลขนาดใหญ่เก็บข้อมูลจำนวนมหาศาล  ข้อมูลที่จัดเก็บในคลังข้อมูลจะถูกเลือกมาเป็นอย่างดี  ซึ่งเก็บรวบรวมจากข้อมูลประจำวัน( Operational Databases) และฐานข้อมูลภายนอกองค์กร (External Databases)  โดยข้อมูลที่ถูกจัดเก็บในคลังข้อมูลนั้น มีวัตถุประสงค์ในการนำมาใช้งานเพื่อสนับสนุนการตัดสินใจบริหารงานของของผู้บริหาร
ข้อมูลเหล่านี้จะถูกเรียกว่า ข้อมูลกลยุทธ์ (Strategic Information)  ข้อมูลกลยุทธ์มักมีการรวมศูนย์ มีความถูกต้องแม่นยำ และมีรูปแบบที่เหมาะสมตามความต้องการของผู้บริหาร

คลังข้อมูลจะมีมุมมองเชิงลึกในมิติต่างๆ ที่ฐานข้อมูลปกติทั่วไปไม่สามารถทำงานได้
เช่น   สรุปยอดขายในแต่ละเดือนของทุกสาขา แสดงรายละเอียดว่าแต่ละสาขามีสินค้าอะไรขายดีและขายดีช่วงไหนของเดือน
จากตัวอย่างดังกล่าวจะเห็นได้ว่ามิติสถานที่ (สาขา)   มิติผลิตภัณฑ์(สินค้าขายดี)  มิติเวลา (ช่วงไหนของเดือน) เป็นต้น

คลังข้อมูลต่างจากฐานข้อมูลอย่างไร ?
ฐานข้อมูลเป็นการประมวลผลประจำวัน  มีระยะเวลาจัดเก็บไม่ยาวนานนัก
ส่วนคลังข้อมูลคือฐานข้อมูลที่เก็บจากอดีตมาปัจจุบัน มีลักษณะประมวลแกนเวลาเป็นจำนวนหลายปี
(โดยเฉลี่ยจะอยู่ที่ 3-5 ปี  เกินกว่านั้นต้องทำ Archive หรือเก็บไว้ที่อื่น)



จากภาพตัวอย่าง จะเห็นมีมิติสามด้าน สินค้า เวลา จังหวัด รูปแบบการเก็บนี้เรียกว่า Multi Dimensional Data Model
โดยรูปแบบนี้ สามารถเพิ่มมิติกี่ด้านก็ได้ แล้วแต่มุมมองที่จะนำไปใช้งาน


 คุณสมบัติของคลังข้อมูล (Data Warehouse)
1. Subject Oriented (ตามหัวข้อเรื่องที่ต้องการ)
ข้อมูลในคลังข้อมูลจะเลือกเก็บแต่ข้อมูลที่สามารถมาใช้ในเชิงวิเคราะห์หรือตัดสินใจ
 มากกกว่าเก็บข้อมูลเพื่อตอบคำถามรายละเอียดปลีกย่อย
ยกตัวอย่าง ถ้าจุดประสงค์ต้องการทราบข้อมูลเกี่ยวกับยอดขาย    คลังข้อมูลจะถูกออกแบบสร้างให้เน้นแต่เรื่องยอดขาย
เมื่อมีคำถามที่เกี่ยวกับยอดขายก็จะสามารถตอบคำถามนั้นได้ทันที  เช่น  ใครเป็นลูกค้าที่ยอดซื้อสูงสุด
 สินค้าประเภทนี้มียอดขายเท่าไร   และนั่นคือคุณสมบัติ Subject Oriented ของคลังข้อมูล

2. Integrated (หลอมรวมข้อมูล)
 การที่จะใช้ข้อมูลจากคลังข้อมูลเพื่อตอบคำถาม บางครั้งต้องรวบรวมข้อมูลมาจากหลายแหล่ง
โดยเหตุจากที่มาที่แตกต่างกัน อาจทำให้เกิดปัญหาความไม่ถูกต้อง ความไม่สอดคล้องกันของข้อมูล
คลังข้อมูลที่ดีต้องสามารจัดการปัญหาเหล่านั้น  นำข้อมูลมาสร้างความสอดคล้องเพื่อแสดงข้อมูลที่ถูกต้องให้แก่ผู้ใช้งาน

3. Time-variant (ความสัมพันธ์แกนเวลา )
ลักษณะข้อมูลในคลังข้อมูลจะเป็นข้อมูลประวัติศาสตร์ (Historical Data)
เก็บจากอดีตถึงปัจจุบันย้อนหลังเป็นเวลาหลายปี   ทั้งนี้เพื่อที่จะได้นำไปวิเคราะห์เปรียบเทียบหาแนวโน้มของข้อมูล

4. Non-volatile (ไม่เปลี่ยนแปลงบ่อยๆ )
ข้อมูลในคลังข้อมูลจะไม่มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงอีกหลังจากที่ถูกโหลดเข้าสู่ฐานข้อมูลแล้ว
เว้นแต่ในกรณีที่ข้อมูลที่โหลดเข้าไปนั้นเป็นข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง


รูปแบบการวิเคราะห์คลังข้อมูล
มิติ (Dimension) คือ มุมมองข้อมูล   โดยธรรมชาติของข้อมูลในทางธุรกิจมีลักษณะเป็นหลายมิติ (Multidimensional)
เช่น  มิติของข้อมูลยอดขาย ก็จะประกอบไปด้วย  สินค้า เวลา และสถานที่จำหน่ายสินค้า เป็นต้น
มิติจะมีการแบ่งเป็นลำดับขั้น (Hierarchy) เช่น  มิติเวลาไล่ลำดับขั้นจากล่างไปบนสุดมี  ชั่วโมง ,วัน, สัปดาห์,เดือน,ปี

การวิเคราะห์ข้อมูลหลายมิติจะประกอบไปด้วย 7 รูปแบบ
1.  Drill-Down การวิเคราะห์ข้อมูลโดยดูจากข้อมูลในลำดับขั้นจากระดับบนแล้วซอยย่อยมาระดับล่างไล่ลงไป

2.  Roll up ตรงข้ามกับ Drill-Down โดยเริ่มดูข้อมูลจากส่วนรายละเอียดระดับล่างก่อนแล้วค่อยไปดูระดับบน
เป็นวิธีการสรุปภาพรวมของข้อมูล ลดจำนวนมิติลง

3. Slice  การมองข้อมูลเฉพาะส่วน  เช่น การดูยอดขายของสินค้าทั่งหมดต่อเดือนใดเดือนหนึ่ง

4. Dice การมองข้อมูลหลายมุม โดยหมุนไปทีละมุม เช่น  การดูยอดขายของสินค้าทั่งหมดต่อเดือนโดยไล่ไปทีละเดือนจากเดือนแรกไปเดือนสุดท้าย

5. Pivot or Rotate  การเปลี่ยนมุมมอง   คือวิธีการสลับแกนการแสดงลูกบาศก์สามมิติ  การมองลูกบาศก์สามมิติโดยใช้ตารางสองมิติ
ยกตัวอย่าง  การนำเสนอโดยหมุนแกนในรูปแบบ Pivot Table
 

6. Drill Across  เป็นการเจาะลงที่ใช้มากกว่าหนึ่งตารางข้อมูลจริง

7. Drill Through  เป็นการเจาะลงไปในระดับที่ต่ำกว่าลูกบาศก์ขั้นต่ำที่สุด โดยส่งไปยังฐานข้อมูลที่เป็นที่มาของข้อมูล

เนื้อหาต่อไป :  การออกแบบและสร้างคลังข้อมูล

วันพฤหัสบดีที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2560

[บันทึกความรู้] การตลาดในศตวรรษที่ 21

จากหลักสูตรเรียนออนไลน์ของ https://mooc.chula.ac.th/

ตลาด คือ กลุ่มผู้ซื้อ  ซึ่งผู้ซื้อสินค้านั้นรวมถึงผู้ที่มีแนวโน้มจะซื้อสินค้าในอนาคตด้วย
เช่น ตลาดนมผงเด็ก   ผู้ซื้อคือครอบครัวที่มีลูกอ่อน  รวมทั้งสามีภรรยาผู้วางแผนจะมีบุตร
Market is The set of actual & potential buyers of a product or services.
การตลาด คือ การตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค
Marketing is Satisfying Customer Need.
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

ความต้องการของผู้บริโภค 

Maslow กล่าวไว้ Needs ของมนุ๋ษย์นั้นมี 5 ขั้น เมื่อได้รับการตอบสนองขั้นหนึ่ง ก็จะเพิ่มความต้องการไปอีกขั้นหนึ่ง


Maslow's Hierarchy of Needs
1. Physiological Needs ความต้องการทางกายภาพ  เช่น ความหิว ความกระหาย
2. Safety Needs  ความต้องการความปลอดภัย เช่น  บ้านที่อยู่อาศัย
3. Social Needs ความต้องการทางด้านสังคม เช่น  เพื่อน ครอบครัว   คนรัก
4. Esteem Needs ความต้องการภูมิใจ มั่นใจในตัวเอง  ได้รับการยอมรับมีสถานะในสังคม 
5. Self Actualization Needs ความต้องการพัฒนาตนเอง   เราเป็นใคร เกิดมาเพื่ออะไร ทำอะไรได้บ้าง

--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

5 Concepts in Marketing 

1. Production Concept 
เกิดจากแนวคิดที่เชื่อว่าผู้บริโภคอยากได้สินค้าราคาถูก ดังนั้นจึงไปเน้นที่วิธีการผลิต
พยายามเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าให้ได้ปริมาณมากที่สุดและประหยัดต้นทุนที่สุด
เพื่อให้สามารถจำหน่ายสินค้าในราคาที่ถูกลง

2. Product Concept
ผู้บริโภคอยากได้สินค้าที่ดีที่สุด   การตลาดนี้จึงเน้นที่ตัวสินค้า  พยายามเพิ่มประสิทธิภาพข้อดีข้อเด่นของสินค้า 

3. Selling Concept
มาจากแนวคิดที่ว่ายิ่งขายได้เยอะกำไรก็จะเยอะตาม   โดยเชื่อว่ามนุษย์มี needsไม่จำกัด 
ดังนั้นจึงเน้นวิธีการขาย พยายามสร้างแรงกระตุ้นจูงใจให้อยากซื้อสินค้า เช่น  ลดแหลกแจกแถม,  ซื้อ 1 แถม 1

Starting Point : Factory  โรงงานผลิตอะไรได้บ้าง
Focus : Existing Products  สินค้ามีอะไร 
Means : Selling & Promoting ทำการขาย จัดโปรโมชั่นลดแหลกแจกแถม
Ends : Profits through sales volume   ขายมากได้กำไรมาก

4. Marketing Concept
เน้นที่ Customer Needs ผู้บริโภคต้องการอะไร

  Marketing Mix (4P)
  - Product  สินค้าอะไรที่ลูกค้าต้องการ
  - Price  ตั้งราคาที่ลูกค้าสามารถซื้อได้
  - Place  สถานที่ที่ลูกค้าสามารถซื้อสินค้านั้นได้สะดวก
  - Promotion ส่งเสริมการตลาด  สื่อสารกับลูกค้า

Starting Point : Market  ผู้ซื้อ
Focus : Customer Needs   ลูกค้าต้องการอะไร
Means : Integrated Maketting  การตลาดแบบบูรณาการ  หลัก 4P
Ends :Profits through customer satisfaction กำไรมาจากความพึงพอใจของลูกค้า

5. Societal Marketing Concept
การตลาดเพื่อสังคม
Consumer ผู้บริโภคอยากได้อะไร 
Company  บริษัทได้กำไร
Society  สังคมมีความสุข
CSR (Corporate Social Responsibility)

--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------


Holistic Marketing  
การตลาดศตวรรษที่ 21 จะเป็นการตลาดองค์รวม  จะมีอยู่ 4 องค์ประกอบ

1. Integrated Marketing การตลาดแบบบูรณาการ  Product,Price,Place,Promotion

2. Relationship Marketing การตลาดเชิงความสัมพันธ์ 
นักการตลาดต้องสร้างความสัมพันธ์ต่อ 3 กลุ่มดังต่อไป
 - Customer ลูกค้า
      ทำ Customer Relationship Management (CRM)
      สร้างความสัมพันธ์กับลูกค้า  ทำให้ลูกค้ากลับมาซื้อสินค้า  เช่น บัตรคูปองสะสมแต้ม
 - Channel สร้างความสัมพันธ์กับช่องทางการค้า   เช่น  ร้านไหนทำยอดขายถึงเป้าจะมีรางวัลให้
 - Partner สร้างความสัมพันธ์กับคู่ค้า  เช่น จ่ายเงินตรงเวลา

3. Internal Marketing  การตลาดภายใน
The task of hiring , training and motivating able employees who want to serve  customers well.
การฝึกอบรมพนักงาน เพิ่มทักษะ  สร้างความสุขในการทำงาน 
เพื่อที่จะพนักงานจะได้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ ตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างเต็มที่

4. Socially Responsible Marketing  การทำการตลาดรับผิดชอบสังคม
- Community ทำกิจกรรมดีๆให้สังคม
- Legal   ถูกต้องตามกฎหมาย
- Ethics   มีจริยธรรม
- Environment รักษาสิ่งแวดล้อม

Type of Activities
- Corporate Philanthropy   บริจาคเงินให้กิจกรรมการกุศล
- Corporate Community Involvement  เข้าไปช่วยเหลือในชุมชน เช่น กิจกรรมปลูกป่า ขุดคลอง
- Cause Marketing แก้ปัญหาสังคม  เช่น   Case Study Pink Ribbon ต่อต้านมะเร็งเต้านม
- Social Entrepreneurship ธุรกิจเพื่อสังคม   เช่น ธนาคารคนจน

--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

Marketing Tends

- Beyond Functional Value 
แต่เดิมจะคิดแค่ว่าสินค้านั้นมีคุณค่าอย่างไร เช่น น้ำดื่ม ดื่มเพื่อดับกระหาย
แต่ต้องเพิ่มคุณค่าที่ลึกกว่านี้ เช่น น้ำดื่ม ดื่มแล้วดูดี  ถือเป็น Emotional Value

ยกตัวอย่างจากสโลแกนของ Coke
1886 Drink Coca Cola - Selling
1923 Enjoy Thirst   - Functional Value
1986 Classic Coke  - Functional Value
2006 The Coke:Side of Life - Functional Value
2009 Open Happiness - Emotional Value

- Beyond Simple Sales Data
การใช้ Big Data เพื่อมาวิเคราะห์แผนการตลาด     ช่วงเวลาไหน มีลูกค้าประเภทไหนมา ซื้อสินค้าอะไร  มีพฤติกรรมการซื้ออย่างไร

- Beyond 1-way communication
สร้างปฎิสัมพันธ์ระหว่างลูกค้ากับบริษัท พยายามทำให้ลูกค้ามีส่วนรวมในแคมเปญ 
  เช่น  Doraemon STAND BY ME 3D coloring book AR Glico bisco





วันอังคารที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2560

แนะนำซีรีย์ฝรั่งน่าสนใจประจำปี 2017

ผมเป็นคนหนึ่งที่ชอบดูซีรีย์ฝรั่ง ชอบแบบเนื้อเรื่องดำเนินไปเรื่อยๆต่อกันมากกว่าจบเป็นตอน
ดูได้ทุกแนว ไม่จะเป็นดราม่า อาชญากรรรม การเมือง สยองขวัญ ลึกลับ ตลก โหด หื่น  ไซไฟ แฟนตาซี ฯลฯ
ดูได้หมด   หากเจอซีรีย์ดีๆ ทีมงานมืออาชีพ  นักแสดงเล่นเต็มที่สมบทบาท และข้อสำคัญสุดมีเนื้อหาน่าติดตาม
ก็พร้อมเต็มใจทำตัวขี้เกียจ ล้มตัวลงนอนเอกเขนกหมกอยู่หน้าทีวี ยอมเสียเวลาเป็นวันๆเพียงเพราะอยากรู้จะเกิดอะไรขึ้นต่อไป
สมัยร่างกายยังฟิตและมีเวลาว่างเหลือเฟือ  ผมสามารถนั่งดูมาราธอนอัดยาวรวดเดียวสิบกว่าตอน  แต่เดี๋ยวนี้แค่สามตอนก็ไม่ไหวแล้ว

ปีนี้ถ้าไม่นับซีรีย์ที่ตามดูมานาน ออกซีซั่นใหม่ทำออกมาถูกใจไม่ถูกใจยังไงก็ต้องดู  จนเป็นหน้าที่ประจำปีไปแล้ว อาทิ เช่น
Game of Thrones , The Walking Dead , American Horror Story

พวกซีรีย์หน้าใหม่ ทดลองดูน้อยมาก ส่วนใหญ่สอบตกตั้งแต่ Pilot ตอนแรก  ปีนี้เห็นจะมีสอบผ่านอยู่สองเรื่อง   เรื่องแรก...



 Designated Survivor    จริงๆเริ่มฉายตั้งแต่กันยายนปีที่แล้วมาจบซีซั่น 1ที่กลางปีนี้   ปลายเดือนกันยายนปีนี้ก็เริ่มซีซั่น 2 พอดี
เรื่องนี้ดูเพราะพล็อทเรื่องและบทบาทใหม่ของ  Kiefer Sutherland  ชื่อนี้หลายคนที่เป็นคอซีรีย์แอคชั่น  
คงคุ้นเคยกันดีกับบทบาท Jack Bauer แห่ง 24   แต่เรื่องนี้แกไม่บู๊ครับ  
แกเล่นเป็นรัฐมนตรีตัวเล็กๆในรัฐบาล  เผอิญโชคดีรอดตายจากเหตุวินาศกรรมวางระเบิดรัฐสภา คนใหญ่คนโตในรัฐบาลตายหมด  
พอมาไล่ลำดับชั้นแล้ว แกมีสิทธิ์มากที่สุดที่จะได้เป็นประธานาธิบดีตามกฎหมายสหรัฐอเมริกา

กฎหมายเขาเป็นอย่างนั้นครับ ถ้าประธานาธิบดีตายหรือมีเหตุให้ออกจากตำแหน่ง  รองประธานาธิบดีจะขึ้นมาแทน  ถ้ารองมีเหตุขัดข้อง  ก็จะเลื่อนให้รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศ ไล่ไปเรื่อยๆจากคนในคณะรัฐบาล

กรณีลุง Kiefer นี่โคตรฟลุ๊คสุดๆเพราะเป็นรัฐมนตรีการเคหะ ตำแหน่งเล็กมาก  เหตุที่รอดตายเพราะแกไม่ได้รับเชิญให้ไปร่วมงานประชุมใหญ่ที่รัฐสภา ทุกคนได้ไปหมด แต่แกไม่ได้ไปเพราะประธานาธิบดีคนก่อนไม่ค่อยปลื้มแก  สถานะเตรียมจะโดนปลดออกจากตำแหน่งหลังจบงานประชุม

เนื้อเรื่องดำเนินได้น่าสนใจ ไหนจะประเด็นว่าใครเป็นคนวางแผนระเบิดรัฐสภา  การที่ลุงแกได้ประธานาธิบดีเพราะโชคช่วย หรือมีใครวางหมากไว้     ไหนจะภาระบริหารประเทศและเกมการเมืองที่ต้องเฉือนคม


เรื่องที่สอง...



American Gods   คิดแล้วก็ตลกตัวเองเหมือนกัน   ผมเห็น AD โฆษณาภาพนี้หลายครั้งอยู่    ก็ไม่ได้สนใจไม่รู้ที่มาที่ไปของซีรีย์เรื่องนี้  คิดไปเองโดยพิจารณาจากภาพว่ามันคงเป็นแนวดราม่าชีวิต ความเชื่อ ความศรัทธา การเดินทางค้นหาตัวเอง
 ซึ่งหนังมันก็มีองค์ประกอบเนื้อหาพวกนี้ครบหมดนะ แต่ผิดจากที่คิดไปเยอะมากกกกกกกก

พล็อทเรื่องย่อก็ไม่ได้อ่านนะ อยู่ๆเข้าไปดูตอนแรกเลย  เห็นว่าโฆษณาโปรโมทบ่อย  ก็น่าจะโอเคในระดับหนึ่ง
เปิดมาตอนแรก  เอาแค่ไตเติ้ล  เฮ้ย!!! เพลงไม่ธรรมดาแหะ สงสัยเรื่องนี้จะมีของ
Brian Reitzell - "Main Title Theme" (American Gods Original Series Soundtrack)
แล้วก็มีของจริงๆด้วย   เล่าเรื่องได้ถูกจริตผมมาก

American Gods  เรื่องย่อ Shadow Moon อดีตนักโทษติดคุกคดีฉ้อโกงเดินทางกลับบ้าน
ไปงานศพเมียที่พึ่งตาย  ตายก่อนวันเขาได้รับอิสรภาพแค่ไม่กี่วัน
ระหว่างเดินทางเขาได้เจอลุงท่าทางแปลกๆ เรียกตัวเองว่า "นายวันพุธ" (Mr. Wednesday)
ไม่รู้นึกไงอยู่ดีๆลุงวันพุธพยายามชักชวนเขามาทำงาน   และนั่นก็เป็นจุดเริ่มต้นการเดินทางผจญภัยอันแสนพิลึกพิลั่น

วิธีดำเนินเรื่องของ American Gods  ค่อนข้างติสท์แตก งานภาพแปลกดี สื่อสัญลักษณ์เยอะ
ไม่เล่าตรงๆ ให้คนดูทำการบ้านไปเรื่อยๆ ปะติดปะต่อเอาเอง
ซึ่งประเด็นหลักของเรื่องก็คือ เทพเจ้าโลกเก่ากับโลกใหม่ตีกันในยุคปัจจุบัน พลังอำนาจของเทพขึ้นอยู่กับศรัทธาของผู้คน
โดยส่วนตัวพล็อทเรื่องแนวนี้ผมเฉยๆ ไม่ได้รู้สึกหวือหวาแปลกใหม่อะไร อาจเพราะสนใจแนวนี้เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เสพย์มาเยอะ

ถ้าเป็นคนชอบแนวตำนานปรัมปราเทพเจ้า  รับรองว่าเพลิน คนแต่งเรื่อง คนเขียนบท ผู้กำกับ ทีมงานทำการบ้านมาดีมาก
สำหรับเรื่องนี้นะ ฉากแต่ละฉากอะไรที่ใส่เข้ามา ไม่ได้เล่าเท่ๆ  มันมีเหตุผลอยู่ พอมาสรุปรวมกัน เออ เจ๋งดีแหะ
ผมเดาตัวจริงของลุงวันพุธ ได้ประมาณกลางเรื่อง    พอปิดซีซั่น 1  ลุงเฉลยตัวจริงปั๊บ  ร้องเฮลั่นบ้านเลย เดาถูก!!!!

แต่ข้อเสีย American Gods ก็มี บางช่วงอืดอาดยืดยาดชวนหลับเกินไปหน่อย แถมมีดราม่าผัวเมียอีก
เฮ้อ..  มีแค่ 8 ตอนอย่าใช้ให้มันเปลืองนักสิ
ดูจบแล้วไปนั่งไล่อ่านในกระทู้ ดูคลิปถกทฤษฎีต่างๆ  เห็นเขาว่าซีรีย์ปรับปรุงบทให้ดีขึ้น ในนิยายอืดกว่านี้อีก  
ห่ะ!!! นี่ขนาดปรับบทแล้วเหรอเนี่ย!!!!