วันเสาร์ที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2560

ทุกอย่างมีราคา

Where to Invade Next  หนังสารคดีสไตล์จิกกัดของไมเคิล มัวร์ ผู้กำกับหัวเอียงซ้าย เคยเป็นกระแสมื่อปีก่อนในบ้านเรา
มีเหล่าเซเลปคนดังหลายคนพูดถึงกันปากต่อปาก อยากให้เมืองไทยมีสวัสดิการแบบนั้นบ้างจัง
กลับมาเป็นกระแสอีกครั้ง เมื่อนักวิชาการหยิบมาใช้เสวนาว่าด้วยเรื่องรัฐสวัสดิการเมื่อเร็วๆนี้
แต่ผมไม่มีประเด็นมาอภิปรายเรื่องนี้หรอก ความสามารถไม่ถึง ☺

โดยส่วนตัวผมมองว่าสารคดีของอีตามัวร์เนี่ย นำเสนอด้านเดียวไปหน่อย   ใครดูหนังจบแล้วอาจจะเกิดอารมณ์ฮึกเหิมตาวาวไฟลุก 
"ประเทศกูต้องมีอะไรแบบนี้บ้างโว้ย !!!!" 
 ประมาณเดียวกับอ่านหนังสือของคาร์ล มากซ์จบหนึ่งเล่ม   แล้วอยากเป็นนักปฎิวัติ อยากเปลี่ยนแปลงสังคม

แต่ในหนังเขาก็บอกอยู่แล้วมาเก็บแค่ดอกไม้ เพราะงั้นถ้าจะดูเรื่องนี้ต้องคิดลึกๆ  อย่าพึ่งปล่อยให้แฟนตาซีครอบงำ
ต้องคิดหน้าคิดหลัง คิดบนล่างซ้ายขวา คิดให้หมดทุกมุม  เพราะในความเป็นจริง มันไม่มีอะไรดีงามสมบูรณ์แบบหรอก
สวัสดิการชั้นเลิศจะเกิดได้ย่อมต้องผ่านเงื่อนไขกระบวนการแลกเปลี่ยนอย่างแสนสาหัสมาก่อน
และเมื่อได้มาแล้ว จำเป็นต้องจัดการผลกระทบด้านลบที่จะตามมา 
รวมทั้งมีมาตรการรับมือกรณีไม่คาดฝัน เช่น เกิดวิกฤติเศรษฐกิจ  เก็บภาษีไม่เข้าเป้า  เป็นต้น

ไม่มีอะไรได้มาง่ายๆ ทุกอย่างมีราคา  ราคาที่ต้องจ่ายด้วยการต่อสู้ฝ่าฟันเรียกร้อง จ่ายด้วยเลือดเนื้อชีวิต 
พอได้มาแล้ว ยังต้องปกป้องหวงแหนต่อไป พยายามทำให้ดำรงอยู่ให้นานที่สุด

สำหรับสังคมไทยเรานั้น ก็อยากได้สวัสดิการดีๆกับเขาเหมือนกัน แต่คนส่วนใหญ่ไม่อยากจ่าย ไม่ลุกขึ้นมาสู้เรียกร้องเอง 
รอฟ้ารอฝนไปวันๆ รอใครสักคนที่มีอำนาจพอจะบันดาลให้  หรือปล่อยให้คนส่วนน้อยเคลื่อนไหวสู้เพียงลำพัง 
ถ้าเขาทำสำเร็จก็รอรับผลประโยชน์ตามไปด้วย  ถ้าเขาทำไม่สำเร็จก็แล้วไป

คงเพราะได้มาง่ายเกินไปหรือไม่รู้ว่าตัวเองจ่ายอะไรไปบ้าง  ถึงไม่เห็นคุณค่า
ครั้นได้มาแล้วก็ไม่รักษาไม่ดี  พอมีปัญหาจะโดนทำลายทิ้ง ก็ไม่ออกมาปกป้องกัน ปล่อยให้เป็นหน้าที่คนส่วนน้อยเหมือนเดิม
ไอ้ที่ร้ายสุดดันไปเชื่อพวกที่จะทำลายผลประโยชน์ของตนเองซะสนิทใจ
อะไรทำให้เราเป็นเช่นนั้น  หรือเพราะเราไม่รู้จักสิทธิและหน้าที่ของตัวเอง 
เรามีหน้าที่ให้ปฎิบัติ  เรามีสิทธิให้รักษา แต่ดูเหมือนที่ผ่านมาเราใช้ทั้งคู่ได้ไม่ดีเท่าไรนัก