วันศุกร์ที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2560

เลือกหนังมาดูที่บ้านด้วย IMDb


ผมเป็นคนที่ชอบดูหนังมาก  มักเช่าหนังมาดูที่บ้านเป็นประจำ ตั้งแต่ยุควิดีโอเทป วีซีดี ยาวมาจนปัจจุบันยุคออนไลน์
Photo by Chris Lawton on Unsplash

ยิ่งถ้าเป็นการดูหนังในโรงหนัง จะเป็นกิจกรรมที่ชื่นชอบเป็นพิเศษ  สมัยรุ่นๆไปโรงหนังเกือบทุกสัปดาห์
แต่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา รู้สึกไม่สะดวกใจและเบื่อหน่ายที่จะไปโรงหนัง
อาจเพราะอายุที่มากขึ้น ความเคร่งเครียดในการดำเนินชีวิตย่อมมากตาม   เมื่อถึงเวลาพักผ่อนก็อยากให้เป็นช่วงเวลาพักที่แท้จริง
การไปโรงหนัง มันมีโอกาสเกิดเหตุไม่คาดฝันชวนหงุดหงิดใจได้  แทนที่จะได้พักสบายใจ กลับได้ความรู้สึกแย่ๆกลับมาแทน
ซึ่งประเด็นนี้ผมคงไม่ต้องสาธยายว่าอาจจะเจออะไรบ้าง ทุกท่านทราบกันดีและคงโดนกันมาไม่น้อย

รวมทั้งความกระหายอยากดูหนังใหม่เข้าโรงของผมมันน้อยลง  ก็ในเมื่อไม่รีบดูหนังใหม่  การดูหนังที่บ้านน่าจะเป็นคำตอบที่ลงตัว

Photo by Jens Kreuter on Unsplash

การดูหนังที่บ้านมีข้อดีมากมาย จะนั่งดูนอนดูทำได้อย่างสบายใจ   อาหารเครื่องดื่มจัดมาตามใจชอบ เต็มที่ไม่ต้องเกรงใจใคร
อยากเข้าห้องน้ำเวลาไหนก็ได้ ไม่ต้องกลัวจะกลับมาแล้วดูหนังต่อไม่รู้เรื่อง
ถึงจะมีข้อดีมากมาย  แต่จำต้องยอมรับว่าการไม่ได้ดูหนังที่โรงหนังมันทำให้อรรถรสของหนังบางเรื่องบางจุดขาดหายไป

สิบปีที่ผมไม่ได้เข้าโรงหนังเปลี่ยนมาดูหนังที่บ้านแทนอย่างถาวร  ทำให้มีเวลาพิจารณาคัดเลือกกลั่นกรองหนังที่จะมาดูมากขึ้น
 อุบัติเหตุดูหนังเห่ยเสียอารมณ์ลดลงไปถึง 90%  เพราะกว่าผมจะได้ดูก็หลังจากหนังออกฉายไปแล้วอย่างน้อย 1 ปี
ซึ่งเวลามันผ่านไปนานพอที่จะได้ข้อสรุปว่าหนังเรื่องนี้อยู่ระดับไหน  ดีจริงหรือแค่แฟนบอยปั่นกระแส

โดยส่วนตัวผมใช้เวป IMDb  ในการพิจารณา    ถึงจะมีเสียงครหาว่า IMDb ใครๆก็โหวตได้  ทำให้ขาดความน่าเชื่อถือ
ผมมองว่ามันเป็นแค่ปัญหาช่วงหนังเข้าโรงใหม่ๆ   ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาที่จะมีบรรดาแฟนๆเกณฑ์กำลังพลยกขโยงกันไปถล่มโหวต
เลยทำให้เกิดปัญหาปั่นคะแนนจนผิดเพี้ยนจากความเป็นจริง

แต่อย่าลืมครับ เมื่อเวลาผ่านไปนานพอ คุณค่าของหนังจะบอกตัวมันเอง    แฟนบอยถึงจะรักกันเหนียวแน่นแค่ไหน
แต่จะให้ยกพวกชุดใหญ่ไปโหวตทุกวี่ทุกวันกันข้ามปี มันเป็นไปไม่ได้หรอก

นอกจากหนังมันเทพมากๆ ก็จะได้คะแนนจากคนอื่นเข้าไปร่วมโหวตด้วย
ในทางกลับกันถ้าหนังมันแย่ ต่อให้แฟนบอยปั่นคะแนนไว้สูงขนาดไหน เจอคนอื่นเข้าไปโหวตตามจริงก็ดึงคะแนนลงมาได้เช่นกัน
ยกเว้นแต่หนังเรื่องนั้นคนอื่นไม่ค่อยได้ดูกัน เช่น พวกหนังอินเดียปั่นคะแนนซะไม่เกรงใจ  แหม!! คนดูก็มีแต่พวกพี่แกนี่แหละ
(แต่หนังอินเดียที่ดีก็ทำดีจริงนะครับ  ดีระดับควรหามาดู  เอาไว้มีโอกาสผมจะเขียนแนะนำ)

และนั่นทำให้ IMDb เป็นเวปวิจารณ์หนังที่ให้ข้อมูลในแง่ความชื่นชอบของมวลชนได้เป็นอย่างดี
ถ้าหนังมันสนุกจริง  คะแนนลอยลำไม่มีตกหรอกครับ  

ผมมีเกณฑ์พิจารณาในการเลือกหนังมาดูจาก IMDb แบบง่ายๆมาแนะนำ
ยกตัวอย่างเรื่องล่าสุดที่พึ่งดูไปเมื่อคืน

Big Eyes



เมื่อเข้าไปดูใน link นี้  http://www.imdb.com/title/tt1126590/  เราจะเห็นว่ามีคะแนนบอกเด่นชัดเจน



ได้ 7.0   ได้ระดับ 7 ขึ้น แสดงว่าต้องมีอะไรดี  แต่อย่าพึ่งปักใจเชื่อ  เราต้องดูจำนวนคนโหวตด้วย  คนเข้าไปโหวตมีกี่คน
จำนวนคนอยู่ตรงใต้คะแนน   มีคนโหวต 65,495 คน  จำนวนคนมากพอที่จะเชื่อถือคะแนนนี้ได้ในระดับหนึ่ง
และเมื่อคลิ๊ํกเข้าไปตรงส่วนนี้ มันจะแสดง user rating ให้เราเห็น ว่าส่วนใหญ่โหวตให้กันกี่คะแนน เกณฑ์เฉลี่ยอายุและเพศผู้โหวต
ซึ่งข้อมูลส่วนนี้สามารถบอกเราได้คร่าวๆว่า หนังเหมาะกับเรามั้ย


จากกรณี Big Eyes จะเห็นได้ว่า ส่วนใหญ่ให้ 7  คะแนน   ได้คะแนนจากทุกเพศทุกวัย  ได้คะแนนน้อยสุดในกลุ่มวัยกลางคน
แต่คะแนนก็ไม่ได้ทิ้งห่างกันมากนัก ใกล้เคียงกันพอสมควร   ซึ่งหนังเรื่องนี้หลังจากผมดูจบ ผมก็ว่ามันสมควรได้คะแนนตามนี้จริงๆ
หนังเล่าเรื่องเข้าใจง่าย ตรงไปตรงมาไม่ต้องตีความ ดูได้ทุกเพศทุกวัย

เรื่องคะแนนหายห่วง  คราวนี้ก็มาดูแนวเรื่อง เป็นแนวที่เราชอบเรื่องเปล่า
 Biography ,  Crime , Drama    ผมโอเคกับหนังแนว Crime กับ Drama  แต่ Biography นี่สิปัญหา
คือหนังแนวชีวประวัติ ถ้าผู้กำกับเล่าเรื่องได้ไม่ถูกใจเรา หนังมันจะชวนง่วงได้ง่ายมาก
ดังนั้นเราต้องมาดูข้อมูลรายละเอียดของหนัง ใครเป็นผู้กำกับ  


นั่นไง   Director:     โอเค เห็นชื่อนี้ก็ยิ้มสบายใจแล้ว  เคยดูผลงานเขามาหลายเรื่อง  รู้ฝีมือดี  หยิบหนังมาดูได้เลย
แต่ถ้าไปเจอชื่อผู้กำกับไม่คุ้นตา ก็กดเข้าไปดูตรงชื่อเขา  ดูประวัติที่ผ่านมาเคยกำกับเรื่องไหน ผ่านงานอะไรมาบ้าง
ส่วนรายชื่อนักแสดงเป็นส่วนที่ผมแทบไม่เคยดูเลย  เอามาประกอบการพิจารณาน้อยสุด

บางท่านอาจท้วงมาว่า ทำไมไม่ใช้ของอีกเจ้าด้วยล่ะ อีกเจ้าที่ว่านี้ ผมมีความเห็นว่า ถึงมะเขือเทศเน่าในภาพรวมจะดูน่าเชื่อถือกว่า
แต่ความเห็นของนักวิจารณ์ไม่เคยรับประกันความสนุกของหนังให้บุคคลทั่วไปเท่าไร   หนังดีจริงยอมรับแต่คุณจะดูสนุกมั้ย นั่นอีกเรื่องหนึ่ง

ในแต่ละปีมีหนังออกฉายมากมาย ให้ตามไปดูทุกเรื่องมันเป็นไปได้ จะหาหนังมาดูที่บ้านทั้งทีก็ควรหาหลักประกันให้ตัวเองสักนิด
IMDb อาจไม่ใช่เวปวิจารณ์หนังดีที่สุด แต่มันช่วยคัดกรองหนังที่เราดูแล้วมีแนวโน้มว่าจะไม่ทำให้ผิดหวังได้  ลองดูครับ

วันอังคารที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2560

วิกฤติหุ่นยนต์แย่งงานมนุษย์อาจมาไวกว่าที่คิด



ย้อนไปเมื่อตอนต้นปี 2017 บิลล์ เกตต์ ออกมาเสนอแนวคิดเก็บภาษีหุ่นยนต์  Bill Gates: We should tax the robot that takes your job  ผมรู้สึกขำขำในใจ  "โถ  เฮีย... ใครๆก็อยากใช้หุ่นยนต์ทำงานแทนคนเพื่อลดต้นทุนธุรกิจ แต่เฮียดันมาเสนอไอเดียภาษีงี้  ใครเขาจะเอากับเฮียครับ"

แต่หลังจากอ่านข่าวนี้จบ Next Leap for Robots: Picking Out and Boxing Your Online Order   (เนื้อหาข่าวพูดถึง หุ่นยนต์สามารถทำงานคลังสินค้าได้แล้ว)    ผมชักเริ่มเข้าใจความคิดของบิลล์ เกตต์มากขึ้น วิกฤติหุ่นยนต์แย่งงานมนุษย์อาจมาไวกว่าที่คิด
ช่วงยุคปฎิวัติอุตสาหกรรม โลกเราเคยกังวลปัญหาแนวนี้มาแล้วครั้งหนึ่ง  กลัวเครื่องจักรจะแย่งงาน แต่สุดท้ายมนุษย์ก็ยังมีงานทำ เครื่องจักรแค่มาช่วยอำนวยความสะดวก ผลิตผลงานได้มากขึ้น แต่ครั้งนี้นี่สิ มันมีแนวโน้มที่จะทำให้หลายอาชีพต้องตกงานกันเป็นแถว

ปฎิเสธไม่ได้เลยว่า Internet มันเปลี่ยนโลกที่เราเคยรู้จักให้หมุนไวขึ้น  องค์ความรู้ต่างๆถ่ายทอดเรียนรู้กันได้อย่างกว้างไกลง่ายขึ้น ทำให้เกิดการพัฒนาเป็นไปอย่างก้าวกระโดด การพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ ให้สามารถนำไปใช้งานได้จริง  เขยิบเข้ามาเป็นเรื่องใกล้ตัวในชีวิตประจำวันมากขึ้น  ผู้เชี่ยวชาญเคยประเมินไว้ว่าอีกยี่สิบปีเราจะโดนหุ่นยนต์แย่งงาน   แต่ตอนนี้ถ้าให้ประเมินใหม่ เชื่อได้เลยว่าได้ระยะเวลาที่สั้นกว่าของเดิมหลายเท่า


เราควรเริ่มตระหนักคิดถึงเรื่องนี้กันได้แล้ว   อย่าย่ามใจว่าสายอาชีพตัวเองจะไม่ได้รับผลกระทบ

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาตลาดมีความต้องการบุคลากรทางด้านIT เป็นอย่างสูง  อินเดียถือเป็นเบอร์หนึ่งของวงการเนื่องจากข้อได้เปรียบเรื่องภาษา และค่าจ้างที่มีราคาถูก  รวมทั้งภาครัฐส่งเสริม จึงมีการเร่งผลิตแรงงานที่มีทักษะด้านIT ปัอนเข้าสู่ตลาดโลก แต่ปัจจุบันนี้อินเดียกำลังเกิดวิกฤติคนIT ตกงาน  มันเป็นไปได้ยังไง? โลกเรากำลังขับเคลื่อนพัฒนาไปด้วยIT แต่ทำไมคนที่ทำงานสายนี้โดยตรงดันมาตกงานซะงั้น!?

เกือบทุกบทความของนักวิเคราะห์หลายท่านต่างฟันธงไปที่ว่าเกิดจากทักษะแรงงานIT อินเดียไม่เพียงพอ ความสามารถไม่ถึง    สาเหตุนี้ก็ถูกต้องครับ แต่นั่นไม่ใช่ประเด็นที่เราจะพูดถึงใน Entry นี้ เพราะมันเป็นเรื่องกระบวนการคัดสรรโดยธรรมชาติ ใครๆก็อยากได้คนเก่ง  อยากได้เบอร์หนึ่งหัวกะทิไปทำงาน

แต่ว่าสาเหตุส่วนหนึ่งที่ IT อินเดียตกงาน เกิดจากโดนปัญญาประดิษฐ์แย่งงานด้วยนะครับ
เป็นเรื่องที่ขำไม่ออก เช่น  กรณีงาน  Help Desk Call Center ที่บริษัทชาติตะวันตกมักจะใช้บริการจากอินเดีย  แต่เดี๋ยวนี้หลายบริษัทเปลี่ยนไปใช้ Chat Bot กันแทน  ประหยัดค่าใช้จ่าย ไม่ต้องจ้างคนมาตอบคำถาม  

คิดแล้วมันน่าน้อยใจ งานสายอาชีพIT  พึ่งเกิดมาได้ไม่กี่สิบปี ก็มาเจอวิกฤตินี้ซะแล้ว แถมโดนก่อนใครเพื่อน


มันยากที่จะหลี่กเลี่ยง ที่จะไม่ให้หุ่นยนต์ ปัญญาประดิษฐ์ เข้ามาทำงานแทนมนุษย์   ผมว่าทุกวงการโดนเกือบหมดล่ะครับ
ที่แน่ๆตามข่าวที่ผมแปะ Link ไว้  งานโกดังสินค้าไม่กี่ปีต่อไปนี้คงเปลี่ยนมาใช้หุ่นยนต์ทำงานกันหลายเจ้า  อย่างไวสุดปีหน้า
เมื่อไม่กี่วันมานี้ผมอ่านข่าวผ่านตา ธนาคารเริ่มใช้ปัญญาประดิษฐ์มาใช้ทำงาน ต่อไปนายธนาคารจะตกงานกันหรือเปล่าก็ไม่รู้ดูกันต่อไป

เทคโนโลยีรถยนต์ไร้คนขับพัฒนาขึ้นทุกวัน  ถ้าสมบุรณ์แบบเมื่อไร คนขับรถได้ตกงานกันระนาวแน่
มีบางรัฐในสหรัฐอเมริกา เริ่มเขียนกฎหมายมารองรับเรื่องรถยนต์ไร้คนขับ  แต่บางประเทศก็ต่อต้านเช่น อินเดีย เขาให้เหตุผลว่าจะทำให้เกิดปัญหาคนว่างงานตามมาขึ้นมากมาย

ต่อไปโลกเราจะเป็นยังไงหนอ  ถึงตอนนั้นไอเดียภาษีหุ่นยนต์ของเฮียบิลล์ เกตต์ จะเอามาใช้งานปฎิบัติได้จริงไหม    
วิกฤติว่างงานจะหนักขนาดไหน หรือเป็นเรื่องกังวลเกินเหตุเหมือนครั้นยุคปฎิวัติอุตสาหกรรม
ผมได้แต่หวังว่ามันจะเป็ํนแค่เรื่องกังวลเกินเหตุ  แต่ถ้าไม่ใช่ ก็ตัวใครตัวมันล่ะครับงานนี้ ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน


เครดิตรูปภาพ : Bench Accounting Alex Knight