วันพฤหัสบดีที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2560

ต้องบริโภคข้อมูลซ้ำสองครั้งถึงเข้าใจ

เก็บงำความสงสัยมานาน ทำไม Get Out ถึงได้รับคำชมและคะแนนวิจารณ์อยู่ในเกณฑ์ที่ดีมาก มากจนผิดสังเกต
หรือเพราะตอนนี้กระแสเรื่องเหยียดผิวมาแรง  โดยดูจาก Trailer ตัวอย่างหนัง ก็แลชวนให้คิดว่ามีประเด็นนี้มาเกี่ยวข้องแน่ๆ



ผมดูจนจบ ดูแบบไม่ค่อยตั้งใจ ก็เข้าใจนะว่าหนังต้องการสื่ออะไร  มันเป็นหนังสยองขวัญที่มีการเสียดสีสังคมผสมไปด้วย
แต่พล็อทเรื่องแค่นี้กับประเด็นที่เล่น มันไม่น่าสร้างแรงจูงใจให้คนสนใจจนเป็นกระแส  ถ้าผู้กำกับโด่งดังมาก่อนก็ว่าไปอย่าง

ด้วยความคาใจ ผมจึงตัดสินใจดูซ้ำรอบสอง เนื่องจากรู้เนื้อเรื่องหมดแล้ว ครั้งนี้เลยดูแบบตั้งใจ
พอสังเกตองค์ประกอบฉาก คำพูด การกระทำของตัวละคร  เอ๊ย!!!! ผู้กำกับทำงานละเอียดมากๆ เข้าใจแล้วทำไมถึงชมกัน

ผมว่า Get Out เป็นหนังที่ควรดูสองรอบเป็นอย่างยิ่ง  ไม่ใช่ว่าเพราะหนังมันดูยาก  หนังดูง่ายครับ ดูรอบเดียวก็เข้าใจหมด
ต่อให้พ่วงด้วยสัญลักษณ์แอบแฝง สามารถจับประเด็นมาตีความได้ไม่ยากในการดูรอบเดียว
แต่การดูรอบสองมันเหมือนเป็นการเค้นอรรถรสที่แท้จริงของหนังเรื่องนี้ออกมา คุณจะเห็นอะไรเพิ่มเติมมองกว้างขึ้นไปอีก
ใครยังไม่ได้ดู  Get Out  หากมีโอกาสได้ดูแนะนำให้ดูสองรอบครับ ✌

ก็ไม่ได้มาวิเคราะห์หนัง  หนังฉายมาพักใหญ่แล้ว มีบทวิเคราะห์ออกมามากมายหาอ่านง่าย ให้ผมเขียนคงออกมาคล้ายกับของคนอื่น
เผอิญติดใจตรงที่ว่าต้องดูสองรอบ  ต้องบริโภคข้อมูลซ้ำสองครั้งถึงเข้าใจ  เพราะในยุคนี้ข้อมูลข่าวสารมาไวไปไวเข้าถึงได้ง่าย
ทำให้รูปแบบการใช้ชีวิตของคนยุคปัจจุบันรีบเร่งขึ้นจากสมัยก่อน จำเป็นต้องหมุนตามโลกให้ทัน
การบริโภคข้อมูลจึงมักเป็นไปอย่างฉาบฉวย   โดยเน้นข้อมูลกระทัดรัด ย่อยง่าย ใช้เวลาไม่นานในการทำความเข้าใจ
การบริโภคข้อมูลชุดเดิมซ้ำมากกว่าหนึ่งรอบ   ถ้าไม่มีเหตุจำเป็นหลายคนก็คงไม่อยากทำซ้ำนัก เพราะเสียเวลาโดยใช่เหตุ

ความบันเทิงดูจะเป็นข้อมูลประเภทเดียวที่หลายคนยินดีบริโภคซ้ำแล้วซ้ำอีก  ไม่ว่าจะเป็นหนัง เพลง เกม หรือความบันเทิงรูปแบบอื่นๆ
แต่ข้อมูลประเภทอื่น บางครั้งมันก็ต้องการบริโภคซ้ำเพื่อเพิ่มความเข้าใจ เข้าถึงเชิงลึกในตัวมัน  ซึ่งมันไม่ง่ายเหมือนดูหนังซ้ำ

เป็นเรื่องลำบากในการนำเสนอข้อมูลยากๆให้คนสนใจจนอยากบริโภคซ้ำ เพิ่มความเข้าใจในเนื้อหา
ครั้นจะย่นย่อให้เข้าใจง่ายสุดก็ไม่ได้ใจความครบถ้วน ได้แค่เปลือกนอก ซึ่งคนส่วนใหญ่มันจะจบแค่ตรงนั้น ไม่สนใจข้อมูลเพิ่มเติม
พอบรรยายละเอียดยิบร่ายยาว   คนก็เมินหน้าหนีพาลขี้เกียจรับรู้ เลิกสนใจเสียดื้อๆตั้งแต่ต้น
สุดท้ายก็คงได้แค่ปล่อยไปตามความสนใจใคร่รู้ของใครของมัน ☺

เครดิตรูปภาพประกอบ :  pixabay

วันพฤหัสบดีที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2560

Spotify จัด Playlist เพลงโดนใจ

ณ วันนี้  Spotify  ได้เปิดให้บริการในประเทศไทยอย่างเป็นทางการแล้ว   หลายคนคงได้ลองเข้าไปใช้งานกันบ้างไม่น้อย
อันที่จริงบริการฟังเพลงออนไลน์มีหลายเจ้าและทำกันมานานแล้วด้วย   แต่เหตุที่ Spotify เด่นกว่าจนเป็นที่หนึ่งในวงการ
คงเพราะมีเพลงเยอะมากสามารถตอบโจทย์รสนิยมการฟังได้หลากหลาย   รวมทั้งมีการทำงานที่สเถียร ไม่สะดุดอารมณ์นักฟังเพลง



และข้อสำคัญสุด ในมุมมองของผมนะ Spotify มีเงื่อนไขการให้บริการที่ถือว่าแฟร์กับผู้ใช้งาน ไม่ว่าจะฟรีหรือเสียค่าบริการ
หากคุณเสียค่าบริการ ก็จะได้สิทธิ์จัด Playlist เพลงเอง เลือกเพลงเล่นได้ รวมทั้งสามารถ Download ไปฟังแบบ Offline ได้ด้วย
แต่ถ้าฟรี คุณฟังทุกเพลงได้แต่เลือกเพลงไม่ได้ เล่นได้แต่แบบสุ่มในPlaylist ที่เขาจัดมาให้  และมีโฆษณาแทรกเป็นระยะ
แบบฟรีของ Spotify  มันคล้ายๆเราเปิดวิทยุหมุนคลื่นไปเจอรายการเพลงที่เปิดแต่เพลงอย่างเดียวโดยไม่มีดีเจมาพูดแทรก

สมัยเด็กๆวัยรุ่นๆ ถ้าวันไหนเปิดวิทยุหมุนคลื่นไปเจอช่องเปิดแต่เพลงไม่มีดีเจ จะรู้สึกชอบมาก อัดเพลงเพลินเลย

Playlist แบบฟรีที่ Spotify เตรียมมาให้จัดว่าเด็ดดวง แต่ละเพลงฟังแล้วจะถูกใจหรือไม่ถูกใจ แต่ส่วนใหญ่อยู่ในธีมที่เราอยากฟัง
เป็นการเปิดโอกาสได้ฟังเพลงที่ไม่เคยฟังมาก่อน  คุณอาจได้เพลงโปรดเพลงใหม่และศิลปินในดวงใจเพิ่มขึ้นก็เป็นไปได้
ทั้งนี้ทั้งนั้นไม่ว่าคุณจะใช้งาน Spotify  แบบเสียค่าบริการหรือแบบฟรี  สบายใจได้เลยเพราะทั้งหมดนี้เป็นการฟังที่ถูกลิขสิทธิ์
เป็นข้อดีที่อยากแนะนำให้มาใช้งาน Spotify กันเยอะๆ หากใครสนใจอยากทราบรายละเอียดเพิ่มเติม ตามไปที่  Spotify ได้เลยครับ

โดยส่วนตัวผมติดใจ Playlist ของ Spotify มาก  จัดเพลงได้ลงตัวสามารถตอบสนองรสนิยมการฟังเพลงของผู้ใช้งานได้ค่อนข้างดี
มันดีจนผมได้แรงบันดาลใจ  อยากสร้างแอพที่สามารถหาเพลงถูกใจมาให้เราฟัง โดยวิเคราะห์จากรสนิยมการฟังเพลงของเรา


แอพนี้สร้างจริงครับไม่ได้โม้  ทำเล่นๆเป็นโปรเจ็คท์ส่วนตัว  โดยใช้ Youtube API  เป็นฐานข้อมูลเพลง
ถ้าอธิบายให้เห็นภาพง่ายหน่อย แอพที่ผมสร้างมานั้น เป็นแค่แอพหาคลิปวิดีโอเพลงมาเล่นเองอัตโนมัติ
 โดยเจ้าคำว่า "อัตโนมัติ" ที่ว่านั้นต้องเกิดจากการวิเคราะห์พฤติกรรมการฟังเพลง  จนได้รูปแบบที่เรียกว่า "รสนิยม"
เมื่อโปรแกรมเข้าใจรสนิยม  ก็จะการสร้าง Algorithm กระบวนการควานหาเคลิปวิดีโอเพลงที่เข้าข่ายรสนิยม มาเล่นให้เราฟังโดยอัตโนมัติ

โปรเจ็คท์นี้ใช้เวลาพัฒนาเขียนโปรแกรมตอนว่างๆ  ทำอยู่เป็นปียังไม่ได้ผลลัพธ์ตรงตามความต้องการสักที
ณ ปัจจุบันนี้ได้ทำการดองโปรเจ็คท์ไปเรียบร้อยแล้วครับ ดองจนกว่าตัวเองจะมีปัญญาความสามารถทำให้มันดีกว่านี้
ส่วนตอนนี้ก็ใช้งาน Spotify ไปก่อน ☕

เครดิตรูปภาพประกอบ : pixabay

วันอาทิตย์ที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2560

อย่าเชื่อใจความทรงจำ

สืบเนื่องมาจากเมื่อคืนผมดูหนังสยองขวัญเรื่องหนึ่ง  หนังเก่ามากอยากดูมานานแล้วแต่ไม่มีโอกาสได้ดู  นึกถึงขึ้นมาได้ก็เลยจัดซะ

เป็นหนังที่สร้างจากผลงานเขียนของ Stephen King เจ้าพ่อนิยายสยองขวัญ พล็อตเรื่องไม่หวือหวาแต่ดำเนินเรื่องได้น่าติดตาม
ว่าด้วยทนายอ้วนผู้รักการกินเป็นชีวิตจิตใจขับรถไปชนหญิงยิปซีเสียชีวิตคาที่  เนื่องจากพี่แกเป็นคนมีเส้นสายรู้จักผู้มีอิทธิพล
กอปรกับเจ้าหน้าที่รัฐรังเกียจพวกยิปซีเร่ร่อนเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ทำให้พี่ทนายอ้วนหลุดคดีไปอย่างสบายๆ
เมื่อทำอะไรทางกฏหมายไม่ได้  ลุงยิปซีพ่อของหญิงที่ตายไป จึงทำพิธีสาปแช่งทนายอ้วนให้ผอมลงทุกวันจนกว่าจะแห้งตาย


แรกๆมันก็ดี ลูกเมียของพี่อ้วนปลื้ม ในที่สุดพ่อก็ลดน้ำหนักได้สำเร็จ ผ่านไปสักพักชักเริ่มแปลกๆทำไมลดไม่หยุดจนต้องไปหาหมอ
หมอบอกว่าไม่ได้เจ็บไข้ได้ป่วยหรือมีพยาธิใดๆ  ร่างกายทำงานปกติ เรียกว่าสูตรลดความอ้วนของลุงยิปซีนี่เด็ดจริงๆ
ชนิดยาลดความอ้วนหรือคอร์สลดน้ำหนักเจ้าไหนก็ทำไม่ได้ ดูๆแล้วลุงยิปซีแกควรเลิกเร่ร่อนเปลี่ยนมาทำธุรกิจเสริมความงามดีกว่า
ความสยองขวัญของหนังเรื่องนี้เริ่มเมื่อพี่อ้วนแกผอมเกินพอดี  จากนั้นทุกท่านน่าจะพอเดาทางออก


อ่านมาถึงบรรทัดนี้ อาจจะมีบางท่านเริ่มมีความสงสัย แล้วมันเกี่ยวไรกับหัวข้อ "อย่าเชื่อใจความทรงจำ"
จากตรงบรรทัดแรก ผมบอกว่า"หนังเก่ามาก"  ซึ่งระดับความเก่าที่ฝังอยู่ในหัวนั้น จำไว้ว่าอยากดูเรื่องนี้มาตั้งแต่เด็กสมัยประถม
ผมรับรู้การมีหนังเรื่องนี้จากการอ่านนิตยสารวิทยาศาสตร์ที่พี่ชายซื้อประจำ ซึ่งจะมีคอลัมน์หนึ่งที่เอาไว้สำหรับเขียนแนะนำหนัง

แล้วผมก็พบความจริงว่าความทรงจำเหล่านั้นมันผิด ด้วยหลักฐานที่เจอในตอนค้นหาหนัง นั่นคือปีที่หนังเข้าฉายครั้งแรกคือปี 1996
และฉายที่สหรัฐอเมริกาด้วย  ถึงแม้ในยุคนั้นหนังเข้าโรงที่อเมริกาพร้อมกับไทยเป็นเรื่องปกติ แต่ส่วนใหญ่มักจะเป็นหนังฟอร์มใหญ่
Thinner  ถ้าวิจารณ์กันตรงๆ ถือว่าเป็นหนังเกรด B มันอาจจะเข้าโรงหนังในเมืองไทยหลังจากฉายในอเมริกาไปหลายเดือน
หรืออาจจะไม่ได้เข้าโรงเลย มาลงเป็นวิดีโอเทปแทนก็เป็นไปได้   ประเด็นมันอยู่ที่ว่าผมรู้จักการมีตัวตนของหนังเรื่องนี้ได้อย่างไร !?

พึงระลึกไว้อย่างนะครับ ช่วงก่อนปี 2000  ข้อมูลข่าวสารมันไม่ได้ไวเหมือนยุคนี้    Internet มีแล้วแต่ไม่ได้แพร่หลายกว้างไกล
ส่วนใหญ่ยุคนั้นเราเสพสื่อบันเทิงได้จากทีวีกับสิ่งพิมพ์  ข่าวประเภทว่ากำลังสร้างหนังเรื่องนั้นเรื่องนี้ อัพเดทความคืบหน้า
มันมีเฉพาะหนังฟอร์มยักษ์หรือหนังภาคต่อที่คนให้ความสนใจเป็นพิเศษ    พวกหนังเล็กๆก็อาจจะมีข่าวแต่น้อยมาก

ดังนั้นโอกาสที่ผมจะรู้จักหนัง Thinner อย่างไวสุดก็ปี 1995  - 1997   อาจจะได้ข้อมูลจากการอ่านนิตยสารจริง
แต่พอมานั่งนึกดู นิตยสารวิทยาศาสตร์เนี่ยนะแนะนำหนังสยองขวัญ ไม่ได้มี Special Effect น่าสนใจ แถม Production ธรรมดา
แสดงว่าความทรงจำส่วนนี้เชื่อถือไม่ได้เช่นกัน ผมน่าจะรู้จากการเห็นโฆษณาหนังในหนังสือพิมพ์หรือนิตยสารบันเทิงมากกว่า
 ดีไม่ดีอาจจะรู้จักตอนปี 1999 ขึ้นไป  เมื่อบิ๊กซีนีม่าช่อง 7 เอามาฉายลงทีวี แล้วเผอิญผมไปเห็นโฆษณาเลยฝังใจจำ
และข้อสำคัญสุด  ตั้งแต่ปี 1996 ขึ้นไป ผมเป็นวัยรุ่นแล้วนะครับ ไม่ใช่เด็กประถมแน่นอน


เฮ้ยยยยยย!!!!  ร้องเฮ้ยให้กับตัวเองดังๆ   งั้นแสดงว่าความทรงจำปลอม(False Memory)มันเกิดตอนเราอายุวัยรุ่นนะสิ
ทำไมถึงได้มั่วสุดกรู่ขนาดนั้น มั่วปีไม่พอ มั่วอายุตัวเองด้วย  เป็นไปได้ว่าผมเอาความทรงจำวัยเด็กมาผสมกับความทรงจำวัยรุ่น
ตอนเด็กผมอาจจะเคยอ่านนิยายเรื่อง Thinner ของ Stephen King  มาก่อน ซึ่งนิยายเรื่องนี้ออกวางจำหน่ายตอนปี 1984
ถ้าจะมีการแปลเป็นภาษาไทยหรือมีใครเอาเนื้อหาบางส่วนมาเขียนตีพิมพ์ในไทย ผมคงมีโอกาสได้อ่านน่าจะหลังจากนั้นสัก 4-5 ปี
นั่นเป็นช่วงเวลาที่ผมเป็นเด็กประถมพอดี  อ่านแล้วก็ลืมว่าเคยอ่าน แต่ความทรงจำได้ทำการบันทึกข้อมูลเก็บซ่อนไว้เรียบร้อย

Richard BachMan เป็นชื่อนามปากกาของ Stephen King

ข้อมูลดังกล่าวอาจมีการรับรู้ในบริบทป็นหนังแบบอ้อมๆ  เพราะเวลาอ่านนิยายมักจะจินตนาการนึกเป็นภาพตามไปด้วย
จนมาเห็นข่าวหนัง Thinner ผ่านทางทีวีหรือสิ่งพิมพ์  ด้วยความที่เป็นข้อมูลผ่านตา ไม่ได้ให้ความสนใจลงรายละเอียด
 ดังนั้นผมจึงจำแค่ว่า Thinner ทำเป็นหนังแล้ว รู้สึกอยากดูจังเลย
จากนั้นไม่รู้ว่าเพราะเหตุใด  ถึงได้เกิดกระบวนการหยิบความทรงจำสองช่วงอายุมาผสมกันโดยไม่รู้ตัว
ระหว่างวัยเด็กวัยที่มีจินตนาการสูงกับวัยรุ่นวัยที่มีกระบวนความคิดสับสนขาดสติได้ง่าย  กลายเป็นความทรงจำปลอม
สมองเก็บบันทึกใหม่ เพียงแต่คราวนี้มันอยู่ในรูปแบบความทรงจำปลอม  ที่ผมดันเผลอไปเชื่อมันอย่างสนิทใจ

พอได้ข้อสรุปให้ตัวเองอย่างนี้ ก็ชักเริ่มสงสัยความทรงจำเรื่องอื่นๆ   มันอาจมีเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นอีกก็เป็นไปได้
แล้วจะรู้ได้ไง เรื่องไหนจริง เรื่องไหนเท็จ  เราจะเชื่อใจความทรงจำได้แค่ไหน  น่าคิดนะ ☺

เครดิตรูปภาพประกอบ :  pixabay , wikipedia , IMDb

วันพฤหัสบดีที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2560

หมดยุคเสือนอนกินรอ Content

ข่าว Disney จะไม่ต่อสัญญากับ NETFLIX เมื่อหมดสัญญาปี 2019   เอารายการบันเทิงของตัวเองออกมาทำเองดีกว่า
Source : CNN  Disney to pull content from Netflix

สงสัยเจ้าโมเดลธุรกิจที่ว่า  "คุณผลิต Content  ฉันให้บริการ Streaming"  ดูท่าจะไปด้วยกันไม่ได้เสียแล้ว
อาจจะไม่ล่มสลายหรอก  แค่บริษัทยักษ์ใหญ่เจ้าของ Content  เขาเห็นโอกาสและมีประสบการณ์มากพอที่จะไปเปิดให้บริการเอง
ส่วนเจ้าเล็กๆหรือไม่ถนัดงานแบบนี้  ยังคงพึ่งพาต่อไปอีกนาน

ทาง NETFLIX รู้ตัวดีว่า เป็นเสือนอนกินรอ Content คนอื่นอย่างเดียวมันทำได้ไม่ตลอด เกิดวันไหนเขาไม่ให้หนังมาฉายก็ฉิบหายสิ



Marco Polo ซีรีย์เรื่องแรกของ NETFLIX
ในช่วง 3-4 ปีมานี้  ทาง NETFLIX ถึงได้ทุ่มงบมหาศาลพร้อมทั้งเชื้อเชิญผู้กำกับ นักแสดง พยายามผลิตผลงานออกมาให้ติดตลาด  

มันทำให้ผมฉุกคิดอะไรบางอย่างเกี่ยวกับรายการทีวีของบ้านเรา  มีแนวโน้มคล้ายๆแบบนี้เช่นกัน
จากที่ทีวีบ้านเราเปลี่ยนระบบ  Digital  เกิดสถานีโทรทัศน์ช่องใหม่ๆขึ้นมามากมายหลายช่องอย่างที่เห็นกันอยู่
ซึ่้งหลายสถานีโทรทัศน์ทั้งเจ้าเก่าและเจ้าใหม่ หันมาอัพคลิปข่าวและรายการ รวมทั้งละคร ลง Youtube ควบคู่ไปด้วย
เหตุที่นิยมทำกันแบบนี้อาจเพื่อเอาไว้ใช้ดูย้อนหลัง  ประหยัดค่าใช้จ่าย รวมทั้งคุมลิขสิทธิ์  แล้วแต่นโยบายของทางสถานีเขา

แต่มาปีนี้ ถ้าสังเกตดีๆ จะเห็นได้ว่ามีการเริ่มลดปริมาณการอัพ Content เข้า Youtube น้อยลงอย่างเห็นได้ชัด


 Voice TV เป็นเจ้าแรกๆรุ่นบุกเบิก ที่เอา Content ตัวเองมาลง Youtube ควบคู่ไปด้วย
แต่เดี๋ยวนี้จะไปเน้นแฟนเพจ Facebook และ Platform ของตัวเอง  http://www.voicetv.co.th/   ซะมากกว่า
แม้แต่ยักษ์ใหญ่เจ้าเก่าอย่างช่อง 7 ที่เคยใช้บริการ Youtube , Facebook ก็หันมาพัฒนา Platform ของตัวเองขึ้นมา http://www.bugaboo.tv/



ณ ปัจจุบัน  Workpoint  น่าจะเป็นสถานีที่ใช้บริการ Youtube มากสุด  ทุก Content จัดเต็มไม่มีอั้น

ถ้าเป็นรายเล็กๆลงทุนน้อย ทำเป็นงานอิสระ อดิเรก การผลิต Content ลง Youtube,Facebook มันเป็นช่องทางเผยแพร่ผลงานที่ดี
แต่ถ้าเป็น  Content ระดับสถานีโทรทัศน์ ให้มาลงพื้นที่คนอื่นแบบนี้ มองมุมไหนมันก็ไม่ค่อยคุ้มเท่าไร
เงินสัมปทานก็เสีย แล้วยังต้องประเคน Content ให้ Youtube , Facebook  แบ่งตังค์ให้พวกนั้นอีก ไม่ไหวล่ะมั้ง
อาจจะเป็นเหตุผลให้สถานีโทรทัศน์ชักมือกลับแล้วมาเน้นพัฒนา Platform ของตัวเองมากขึ้น

จากกรณี Disney , NETFLIX  มาสถานีโทรทัศน์ไทยยุค Digital   ทำให้เรารู้ว่า ไม่ว่าใครก็ไม่อยากใช้พื้นที่คนอื่นทำมาหากิน
ถ้ามีโอกาสช่องทาง  สู้ไปบุกเบิกทำเองดีกว่า  วันนี้ลงทุนสูง  ไม่มีศักยาภาพพอจะทำเองได้ แต่วันต่อไปก็ไม่แน่
ยิ่งยุคนี้เทคโนโลยีพัฒนาไปไวและองค์ความรู้เปิดกว้างมากขึ้นด้วย ดังนั้นห้ามชะล่าใจเด็ดขาด
ว่าที่ทำมาอยู่ตัวแล้วเป็นเสือนอนกินดีกว่า คิดแบบนั้นเมื่อไรก็นอนรอวันจบเกมได้เลย