วันพฤหัสบดีที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

American Vandal เมื่อโดนสังคมพิพากษา

เมื่ออาทิตย์ที่แล้วผมได้ดูมินิซีรีย์เรื่อง American Vandal  เป็นหนังแนวตลกร้าย ดำเนินเรื่องแบบสารคดีปลอมๆ (Mockumentary)       
       
เรื่องย่อมีอยู่ว่า  ณ ลานจอดรถโรงเรียน  มีใครก็ไม่รู้แอบไปพ่นสเปรย์วาดรูปจู๋ใส่รถของครูทั้ง 27 คัน
ทั้งครูบาอาจารย์และนักเรียนทั้งหลายต่างเห็นฟ้องต้องกัน ว่านี่เป็นฝีมือนักเรียนตัวแสบประจำโรงเรียนแน่นอน ต้องไล่ออกทันที
แต่สองคู่หูสมาชิกชมรมโสตทัศนศึกษาไม่คิดเช่นนั้น เกิดความแคลงใจสงสัย จึงทำสารคดีเพื่อตามหาความจริงของเรื่องนี้ขึ้นมา

พล็อทเรื่องฟังดูงี่เง่า ก็แค่เด็กไม่ดีคนหนึ่งโดนไล่ออกจะไปใส่ใจทำไม  แต่สารคดีทำกันอย่างจริงจังเล่นใหญ่มาก 
เพราะจริงจังมันเลยดูตลกขำๆ   ทำเรื่องเล็กเป็นเรื่องใหญ่   ไอ้เด็กพวกนี้มันช่างทุ่มเทกับเรื่องไร้สาระได้บ้าบอดี

นั่นเป็นแค่ความรู้สึกช่วงครึ่งแรกของเรื่อง  แต่ช่วงครึ่งหลังนี่เล่นเอาซะจุกอกหนักอึ้งพูดไม่ออก
เป็นความงี่เง่าที่จิกกัดสังคมได้อย่างเจ็บแสบ

ซีรีย์นี้มีทั้งหมด 8 ตอน ตอนละ 30 นาที  ตอนดูครั้งแรกกะดูเล่นๆ ไม่คิดว่าตัวเองจะดูได้จนจบ
เพราะนึกว่าเป็นหนังวัยรุ่นตลกธรรมดา  ยิ่งพล็อทเรื่องแค่นั้นคงไม่มีอะไรให้ชวนติดตามนัก
แต่ผิดคาดกลับได้ประเด็นให้คิดต่อมากมาย

การตัดสินใครจากพฤติกรรมในอดีต มันเป็นตรรกะพื้นฐาน  เราหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะให้ใครมาตัดสินตัวเรา 
เพราะทุกคนมีทะเบียนประวัติ มีฐานข้อมูลชีวิตจัดเก็บอยู่ในสังคมรอบข้างโดยอัตโนมัติ
หากเกิดเรื่องราวใดขึ้นมา  คนที่เข้าข่ายก็จะโดนเพ่งเล็งขึ้นมาเป็นอันดับแรกเพราะวีรกรรมในอดีตมันฟ้อง 
แต่ได้กระทำการลงไปจริงไหม นั่นเป็นอีกเรื่องที่ต้องสืบสวนต่อไป        
       
เช่น กรณีตัวเอกของ American Vandal  มีประวัติเป็นเด็กแสบมีเรื่องกับครูบ่อยๆ ชอบวาดรูปจู๋ในห้องเรียน
ไม่แปลกเลยที่จะโดนเป็นผู้ต้องสงสัยคดีพ่นสเปรย์วาดรูปจู๋รถครู

การส่งเสียงคัดค้านว่าไม่ได้ทำ เป็นสิทธิที่ทำได้ แต่มันช่วยอะไรไม่ได้ ถ้าคุณทำตัวแบบนั้นมาตลอดจริง
ยิ่งถ้าเคยก่อวีรกรรมหนักหน่วงมีพฤติกรรมชัดเจน  ยิ่งส่งผลให้คำพิพากษาจากสังคมมาไวก่อนที่จะได้สืบสาวราวเรื่องเสียอีก
ยอมรับเถิดสังคมที่ให้น้ำหนักข้อเท็จจริงหนักกว่าประวัติพฤติกรรมบุคคล สังคมแบบนั้นถึงมีอยู่จริงก็เป็นส่วนน้อย แทบจะเป็นสังคมในอุดมคติ

หากไม่อยากให้มีปัญหาในภายหลัง จำเป็นต้องเล่นไปตามกลไกสังคม พฤติกรรมแบบไหนที่สังคมว่าดี ก็ทำตัวไปตามนั้น
แต่ถ้าหากอยากเป็นตัวของตัวเอง  ก็ต้องพิจารณาถึงตัวตนของตัวเอง  ในมุมมองของสังคมแล้ว ตัวตนที่เราเป็นอยู่นั้น มันอยู่ในรูปแบบที่ดีหรือไม่ดี 
ถ้าไม่ดีก็ต้องพิจารณาต่อไปว่าทำไมถึงไม่ดี  ซึ่งมันมีหลักง่ายๆในการพิจารณา ดูแค่ว่าสิ่งที่ตันตนเราเป็นอยู่นั้นได้เบียดเบียนผู้อื่นหรือไม่
ถ้าเบียดเบียนนั่นแหละคือไม่ดี    แต่ถ้าไม่เบียดเบียนใครแต่คนอื่นว่าไม่ดี กรณีนี้น่าจะเป็นปัญหาที่มุมมองของพวกเขาเหล่านั้นมากกว่า

เช่น แก๊งค์ของตัวเอก American Vandal มีพฤติกรรมชอบแกล้งคน บางครั้งก็เล่นแรงจนไม่น่าให้อภัย  นั่นแหละเรียกว่าเบียดเบียนผู้อื่น

เนื้อแท้อาจไม่ใช่คนไม่ดี ทำไปโดยความคึกคะนอง  พอถึงจุดหนึ่งเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่อาจคิดได้ กลับตัวเป็นคนดี
แต่ส่วนใหญ่ไปไม่ถึงจุดนั้น  สุดท้ายมันมักจะมาจบที่ว่า ถึงแม้นั่นมันไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริงของฉัน
แต่ในเมื่อสังคมพิพากษาให้ฉันเป็นแบบนั้น ฉันก็จะเป็นแบบนั้นให้ดู.

เครดิตรูปภาพประกอบ : IMDb